เจ้าหนี้ใส่จำนวนเงินในสัญญากู้สูงเกินจริง สัญญากู้ยังคงใช้ได้หรือไม่
Published by law_admin on
เจ้าหนี้ใส่จำนวนเงินในสัญญากู้สูงเกินจริง สัญญากู้ยังคงใช้ได้หรือไม่ ?
วันนี้สำนักงานฯ ขอเอาเรื่องจริงที่ชวนปวดหัวมาเล่าสู่กันฟ้อง เรื่องนั้นคือ เรื่องการกู้ยืมเงินนั้นเอง ถึงแม้เราจะได้ยินเรื่องของการกู้ยืมเงินมาแล้วหลายรูปแบบ ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินกันแต่ไม่ทำสัญญา การไม่ยอมลงชื่อคนกู้ หรือแม้แต่มีสัญญากู้ยืมครบถ้วนแต่ดันไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ทำให้ศาลต้องยกฟ้อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมาให้เห็นมาโดยตลอดและหาอ่านได้ทั่วไปทั้งสิ้น
ดังนั้นในวันนี้ เรามาดูกรณีเจ้าหนี้กับลูกหนี้ได้ทำการกู้ยืมเงินกันจริง แต่เจ้าหนี้โหดดันเอาเปรียบลูกหนี้โดยไปเติมข้อความจำนวนเงินในสัญญากู้ให้มากกว่าความเป็นจริง แล้วนำสัญญากู้มาฟ้องเรียกร้องเงินจากลูกหนี้กันบ้าง
เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงสมมุติว่า นายไก่ ไอ้ผู้บ่าวไทบ้านหน้ามนคนชอบซื่อ แห่งเมืองขอนแก่น อยากจะลงทุนทำกิจการเปิดตลาดนัดคลองถมเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าแผงเปิดร้าน แต่เจ้ากรรมเนื่องจากว่านายไก่นั้นไม่มีเงินเพียงพอที่จะไถปรับพื้นที่ และมีเงินทุนเพียงพอที่จะเอามาประชาสัมพันธ์ให้พ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าเข้าตลาดได้ จึงได้มาขอกู้ยืมเงินจากเฮียตี๋ เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท
ด้วยความที่เฮียตี๋ เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้และชอบเอาเปรียบผู้คนเป็นประจำ จึงให้นายไก่เซ็นสัญญากู้ยืมเงินและให้นายไก่รับเงินไปจำนวน 100,000 บาท แต่ปรากฏว่าธุรกิจตลาดคลองถมของนายไก่ไม่ได้เป็นตามคาดหวัง เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เฮียตี๋ นายทุนจอมขี้โกงจึงแอบเติมเลขศูนย์ เพิ่มไปอีกหนึ่งตัว ให้สัญญากู้ยืมเงินกลายเป็นว่านายไก่กู้ยืมตนเป็นเงินจะนวน 1,000,000 บาท ไม่ใช่ 100,000 บาท
นายไก่ ได้รับสำเนาคำฟ้องจากเจ้าหน้าที่ศาลก็ตกใจเป็นอย่างมากในท้ายคำฟ้องนั้นสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายฟ้องมีลายมือชื่อของตนอยู่จริง แต่ยอดเงินนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง นายไก่แม้จะเป็นคนซื่อแต่ก็ยังมีความฉลาดอยู่บ้าง จึงรีบถือสำเนาคำฟ้องนั้นมาหาทนาย เพื่อให้ทนายช่วยแก้ไขและหาทางออกช่วยเหลือให้
ทนายได้ยื่นคำให้การและต่อสู้คดีว่าสัญญากู้ที่เฮียตี๋นำมาฟ้องนั้นเป็นสัญญากู้ปลอม เนื่องจากมีการแก้ไขจำนวนเงินกู้ไม่ตรงตามความจริง ท้ายที่ศาลเชื่อและได้ทำการพิพากษาว่าการที่โจทก์กรอกข้อความลงไปในสัญญากู้เงินพิพาทว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1,000,000 บาท จึงเป็นการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น สัญญากู้เงินพิพาทจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ การกู้ยืมเงินรายพิพาทจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2560/2559 ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” คดีนี้ ในหนังสือสัญญากู้ที่เป็นแบบพิมพ์สำเร็จรูปจำเลยลูกหนี้เพียงแต่ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์เจ้าหนี้กรอกข้อความลงไปในสัญญากู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 6,040,000 บาท ทั้งที่จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 20,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น จึงเป็นเอกสารปลอม ไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ โจทก์จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดี
หมายเหตุ : คดีนี้ ถ้าโจทก์กรอกจำนวนเงินตามจริงที่จำเลยกู้ไป หนังสือสัญญากู้นั้นย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้นั้นได้ (นัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13835/2553))
สรุป สัญญากู้ยืมเงินถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ การที่เฮียตี๋กรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยมีเจตนาเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่นายไก่ ถือว่าเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารปลอมตามกฎหมายอาญา และต้องถือว่าเอกสารสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เมื่อเป็นเอกสารปลอม สัญญากู้เงินนั้นก็ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อการฟ้องให้คืนเงินไม่มีสัญญากู้ยืมเป็นหลักฐาน ศาลจึงต้องยกฟ้องในที่สุด
.
.
สถิตย์ อินตา ทนายความ
083-5681148
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!