ถือหุ้นในบริษัท (แทนคนอื่น) ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ อาจถึงขั้นล้มละลาย

Published by law_admin on

ถือหุ้นในบริษัท (แทนคนอื่น) ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ อาจถึงขั้นล้มละลาย
ถือหุ้นในบริษัท (แทนคนอื่น) ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ อาจถึงขั้นล้มละลาย

ถือหุ้นในบริษัท (แทนคนอื่น) ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ อาจถึงขั้นล้มละลาย

          ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆท่านที่อ่านบทความนี้ ผู้เขียนคิดว่าคงเคยถือหุ้นในบริษัทจำกัด บางท่านก็อาจถือหุ้นจริงๆ ชำระค่าหุ้นกันจริงๆ ส่วนบางท่านก็ถือไม่จริง ไม่ได้จ่ายเงินค่าหุ้นกันจริง ที่หนักที่สุดคือ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น แต่เขาเอาชื่อไปใส่ไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ครบจำนวนคนตามกฎหมายเท่านั้น และ คัดสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนำส่งนายทะเบียนก็จะมีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท

          แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า….. ไม่ว่าจะถือจริงหรือถือไม่จริงชำระค่าหุ้นกันจริงหรือไม่ แต่ในทางกฎหมาย ถือว่าคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (อบจ.5) ในบริษัทนั้นๆ เป็นการถือหุ้นจริงๆ

          การถือหุ้นจริงจ่ายเงินจริงคงจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่ก็ทำกันแบบตรงไปตรงมา แต่ปัญหามักจะมีกับคนที่ถือหุ้นไม่จริงนี่แหละครับ หลายท่านอาจสงสัยว่าถือหุ้นไม่จริงในโลกนี้มีด้วยหรือ  ขอบอกทุกท่านเลยว่า “มีสิครับ ..มีเยอะด้วย” นั่นคือ การที่ท่านให้เขายืมชื่อไปใส่เป็นผู้ถือหุ้นเพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด หรือ อาจให้ยืมชื่อไปใส่ชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนเขาโดยที่เขาอาจไม่สะดวกถือหุ้นเองอะไรทำนองนั้น หลายคนให้ยืมชื่อไปโดยไม่ได้คิดอะไร หรือคิดว่าคงไม่มีอะไร เพราะเราให้เขายืมชื่อไปเฉยๆ เราไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเกิดเรื่องอะไรขึ้นเราก็ไม่ต้องไปรู้เรื่องอะไร ท่านที่คิดเช่นนี้ ก็ไม่ผิดครับ ถ้าบริษัทที่ท่านให้เขายืมชื่อท่านไปนั้นชำระค่าหุ้นครบถ้วน 100% เพราะผู้ถือหุ้นในบริษัทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าค่าหุ้นที่ค้างชำระ

          แต่ปัญหามันมักจะเกิดขึ้นและอันตรายมากๆสำหรับบริษัทที่ท่านให้เขายืมชื่อไปเป็นผู้ถือหุ้นนั้น ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ (เพราะกฎหมายให้ชำระได้อย่างต่ำ 25%) แสดงว่าส่วนที่เหลืออีก 75% ท่านต้องมีหน้าที่ต้องชำระค่าหุ้นเพิ่ม ตามสัดส่วนหุ้นที่ท่านถือในบริษัทนั้น แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ทุกท่านลองคิดดูเอาเถิดว่า ความหายนะ และความวิบัติทั้งปวงอะไรบ้างที่จะเกิดแก่ท่าน

  1. แม้ท่านจะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เป็นเพียงถือหุ้นแทนคนอื่น หรือ ให้เขายืมชื่อไปถือหุ้นเฉยๆ แต่ทางกฎหมายแล้วเขาเชื่อไว้ก่อนว่า ท่านคือผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1024
  2. บริษัทจะเรียกให้ชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเมื่อใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120
  3. ถ้าบริษัทเรียกให้ชำระแล้วไม่ชำระ บริษัทสามารถริบหุ้นท่านออกขายทอดตลาดได้ หากขายได้เงินมากกว่าหนี้ค่าหุ้นที่ท่านต้องชำระ บริษัทก็จะคืนเงินส่วนต่างนั้นแก่ท่าน นั่นก็หมายความว่า หากขาดอยู่เท่าใด ท่านก็ต้องชำระ และตราบให้ที่ท่านยังไม่ชำระ ท่านก็ถือว่าเป็นหนี้บริษัทอยู่ บริษัท อาจบังคับคดี ยึดหรืออายัดบ้าน ที่ดิน รถยนต์ รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆของท่านได้ หรือ หากท่านไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ บริษัทสามารถฟ้องคดีล้มละลายท่านได้หากมีหนี้ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งล้านบาท  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1122 – 1125
  4. เงินค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้ของบริษัท สามารถเรียกให้ท่านที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชำระหนี้นั้นๆได้ และ หากหนี้ค่าหุ้นที่ค้างชำระอยู่นั้นมีจำนวนสูงเกินหนึ่งล้านบาท เจ้าหนี้อาจฟ้องท่านให้ล้มละลายได้ด้วย

          นี่เพียงแค่ท่านถือหุ้นแทนบุคคลอื่นหรือให้เขายืมชื่อใส่ถือหุ้นให้ครบถ้วนเท่านั้น หากท่านไม่ตระหนักถึงความหายนะเหล่านี้ ท่านอาจนอนหลับอยู่ดีๆแล้วตื่นขึ้นมาเป็นหนี้หัวโตและล้มละลายได้เลยเชียว โบราณว่าไว้ ถ้าคิดจะคบเพื่อน อย่าให้เพื่อนกู้เงิน อุปมานี้ยังใช้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้นะครับ ขอให้ทุกท่านโชคดี สวัสดี

.

โดย ทนายนำชัย พรมทา  086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!