เป็นกรรมการบริษัทแทนคนอื่น อาจติดคุก 7 ปี
Published by law_admin on
เป็นกรรมการบริษัทแทนคนอื่น อาจติดคุก 7 ปี
วันก่อนเราได้พูดกันถึงเรื่อง การถือหุ้นแทนคนอื่นแล้วต้องเป็นหนี้เพระบริษัทเรียกให้ชำระค่าหุ้นแล้วไม่ชำระ วันนี้เราจะมาพูดถึงการเป็นกรรมการแทนคนอื่นแล้วต้องติดคุกกันดูบ้าง หลายท่านอาจสงสัยเช่นเคยว่า เป็นกรรมการแทนกันได้ด้วยหรือ ก็ขอบอกอีกตามเคยว่า เป็นได้แน่นอนครับ เพราะหลายคนอาจมีข้อจำกัดบางประการหรือไม่สะดวกที่จะมีชื่อบริหารบริษัท แต่อยากเป็นเจ้าของบริษัทก็ไปใช้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นกรรมการแทน แต่กิจกรรมของบริษัททุกอย่างก็เป็นคนจัดการเองทั้งหมด ดีไม่ดีคนที่มีชื่อเป็นกรรมการตามหนังสือรับรอง อาจไม่เคยได้เซ็นต์เอกสารอะไรเลย หรืออาจไม่รู้เรื่องอะไรในบริษัทเลยก็ได้ เรื่องแบบนี้มีอยู่กันเต็มบ้านเต็มเมืองครับ
เรามาดูความหายนะกันบ้างว่า คนที่มีชื่อเป็นกรรมการแทนคนอื่น จะติดคุกได้อย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ หากไม่มีเหตุพิพาทกัน หรือ ผู้ถือหุ้นมีหลายกลุ่มแล้วเกิดทะเลาะกันขึ้นมา ก็จะพาลไปทั่ว เจอแมวเตะแมว เจอหมาเตะหมา เรื่องนี้ เกิดเกิดเป็นคดีจริงมาแล้วครับ
- ในชั้นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทๆจดทะเบียนโดยรับชำระเงินค่าหุ้น 100% แต่เงินไม่ได้รับจริง เพียงแต่ทำเอกสารว่ามีการรับเงิน เช่น จดทะเบียน 1,000,000 บาท ก็ทำเอกสารว่าบริษัทได้รับเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากผู้ถือหุ้นทุกคนมาครบถ้วนแล้ว ซึ่งคนที่เซ็นต์รับก็หาใช่ใครที่ไหน ก็คือกรรมการเทียมนั่นเอง
- เมื่อบริษัทรับเงินค่าหุ้นมาแล้วก็ต้องนำไปบริหารจัดการในกิจการของบริษัทตามวัตถุประสงค์ แต่ปรากฏว่าไม่มีเงินเพราะบริษัทไม่ได้รับเงินค่าหุ้นจริง
- ถามว่าเงินจำนวนนั้นไปไหน ถ้าไม่มีอยู่ในบริษัทผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง และ ที่จะเอาเงินบริษัทไปได้ก็คือกรรมการของบริษัทนั่นเอง
- เมื่อกรรมการของบริษัทเอาเงินของบริษัทไปก็มีหน้าที่ต้องคืนแก่บริษัท เอาล่ะสิครับ เงินก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้จับด้วยซ้ำ แต่ต้องหาเงินมาคืนเขา แล้วจะไปหามาจากไหนล่ะทีนี้
- เมื่อกรรมการเอาเงินของบริษัทไปไม่คืน อาจถือว่ามีเจตนาเบียดบังเอาเงินของบริษัทไปโดยทุจริต ถือเป็นการยักยอกเงินของบริษัท มีโทษติดคุก 3 ปี บริษัทถือเป็นผู้เสียหาย และ ผู้ถือหุ้นของบริษัททุกๆคนถือเป็นผู้เสียหายด้วย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169
- นอกจากนี้หากไปบอกคนอื่นว่าความจริงแล้วยังไม่ได้รับเงินค่าหุ้นมาจริง แต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้เซ็นใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นไว้แล้ว ก็จะเป็นการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ.2499 มาตรา 42 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท
- นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆที่กำหนดให้ถือว่ากรรมการบริษัทต้องรับผิดกับบริษัทด้วยไม่ว่าทางแพ่งและทางอาญา เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับอีกด้วย
สรุปก็คือว่า การเป็นกรรมการแทนผู้อื่นโดยที่เราไม่ได้บริหารจัดการเอง มีความเสี่ยงสูงมากๆ ขอให้ทุกท่านอย่าได้ประมาท เพราะความประมาทเป็นหนทางสู่ความหายนะ เหมือนกับคำพระท่านว่า คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้นครับ
โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!