ตั้งบริษัทไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ผลจะเป็นอย่างไร
Published by law_admin on
ตั้งบริษัทไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ผลจะเป็นอย่างไร
คุณจอย “นามสมมุติ” เป็นกรรมการของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งถามเข้ามาทางอีเมลบริษัทผู้เขียนว่า แกเปิดบริษัทกับเพื่อน ผู้ถือหุ้นหลายกลุ่ม มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 5 คน แต่ต่อมาผู้ถือหุ้นแต่ละฝ่ายทะเลาะกัน จนไม่สามารถร่วมทำธุรกิจกันต่อไปได้ ต่างฝ่ายต่างไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหาร บริษัทเลยหยุดนิ่ง ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ไม่มีการประกอบกิจการ ไม่มีการส่งงบการเงิน ไม่มีการยื่นเสียภาษีต่อสรรพากร แต่บริษัทเปิดกิจการมาหลายปีมีทรัพย์สิน มีที่ดินที่เป็นชื่อของบริษัท คุณจอยเองก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรกับบริษัท เพราะเกรงว่าจะถูกผู้ถือหุ้นฟ้องคดี จึงอยากทราบว่า การที่บริษัทไม่ได้ทำอะไรเลยแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต่อไปจะจัดการกับบริษัทอย่างไร ทุกท่านทราบหรือไม่ครับว่า บริษัทที่ไม่มีการส่งงบการเงิน (ไม่ว่าจะไม่ส่งเพราะเหตุบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการ หรือ ไม่ส่งงบฯเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม) ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร
- บริษัทจำกัด มีหน้าที่ต้องจัดทำงบดุลของบริษัททุกๆปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1196 – 1198 และมีหน้าที่ต้องส่งงบการเงินนั้น ไปยังนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทด้วย มาตรา 1199 วรรคสอง
- บริษัทจำกัดใดไม่จัดทำงบการเงิน บริษัทมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรรมการบริษัทมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท พระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ.2499 มาตรา 18 ประกอบมาตรา 25 ส่วนถ้าบริษัทใดไม่ส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1199 วรรคสอง กรรมการบริษัทนั้นมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท พระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ.2499 มาตรา 28 (1)
- ถ้าบริษัทจำกัดใดไม่ส่งงบการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน กรณีอาจมีเหตุสงสัยว่าบริษัทนั้นยังประกอบการงานอยู่หรือไม่ ซึ่งนายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทนั้นออกจากทะเบียน มีผลทำให้บริษัทสิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะไปทำกิจการใดๆไม่ได้และจะเรียกร้องสิทธิใดๆในนามบริษัทไม่ได้อีกต่อไป แต่ความรับผิดของกรรมการและของผู้ถือหุ้นมีอยู่อย่างไร ก็ยังคงต้องรับผิดอยู่ตามนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1273/1 – 1273/3
- ถ้านายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนตาม 3) วิธีแก้ไขคือ ผู้มีส่วนได้เสีย ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นคืนทะเบียน แต่ต้องร้องต่อศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4
แต่ปัญหามีว่า ถ้ายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฟื้นคืนทะเบียนเกินกว่า 10 ปี แสดงว่าพ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว (ต้องห้ามตามกฎหมาย) แต่บริษัทยังคงคือกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ จะจัดการอย่างไรจึงจะเอาที่ดินออกมาจากบริษัทได้ อันนี้เอาไว้ตอนต่อไปจะมาแชร์แลกเปลี่ยนความรู้กับทุกท่านนะครับ
โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!