ให้เพื่อนถือหุ้นแทน แล้วถูกเพื่อนโกง จะทำอย่างไร

Published by law_admin on

ให้เพื่อนถือหุ้นแทน แล้วถูกเพื่อนโกง จะทำอย่างไร

ให้เพื่อนถือหุ้นแทน แล้วถูกเพื่อนโกง จะทำอย่างไร

ให้เพื่อนถือหุ้นแทน แล้วถูกเพื่อนโกง จะทำอย่างไร

         การถือหุ้นแทนกันนั้นมีอยู่ทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทุกท่านซึ่งประกอบกิจการในนามบริษัท คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว ร้อยละ 99 ให้บุคคลอื่นมาถือหุ้นเพื่อให้ครบจำนวนคน ที่จะจดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นที่แท้จริงหรือเจ้าของบริษัท มีอยู่เพียงคนเดียวหรือสองคน น้อยมากที่จะเป็นการร่วมทุนกันจริงๆระหว่างผู้ถือหุ้นทุกคน บางคนก็ให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนด้วยวัตถุประสงค์อื่น เช่น ไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตนมีทรัพย์สิน หรือไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนมีหุ้นอยู่ในบริษัทใดบ้างเป็นต้น

         ดังนั้น ในวันนี้ผมทนายนำชัย พรมทา ขอนำคำถามจากเฮียนิรุจมาเล่าให้ทุกท่านได้ดูไปพร้อมพร้อมกัน ดังนี้

         เฮียนิรุจถาม เรียนท่านทนายนำชัย เฮียมีเรื่องปรึกษาว่าเมื่อหลายปีก่อน เฮียให้เพื่อนสนิทถือหุ้นในบริษัทของเฮียแทนคุณพ่อเฮีย เพราะในช่วงนั้นคุณพ่อไม่สะดวกถือหุ้น เพราะกลัวถูกเจ้าหนี้บังคับคดีบังคับหุ้น เฮียจึงได้ให้เพื่อนถือหุ้นแทนท่าน ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทนี้มีผลประกอบการ กำไรทุกๆปี ทุกวันนี้หนี้สินของคุณพ่อ ได้เคลียร์กับเจ้าหนี้ไปหมดแล้ว เฮียจึงอยากเอาหุ้นคืนให้กับคุณพ่อ

          แต่ปรากฏว่าพอเฮียไปคุยอีกที ไอ้เพื่อนคนนี้ไม่ยอมคืนหุ้นให้โดยอ้างว่า เขาได้ครอบครองหุ้นโดยปรปักษ์ไปแล้ว หากอยากได้หุ้นคืน ต้องซื้อหุ้นคืนเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท

         ดังนั้น จึงอยากปรึกษาทนายนำชัยว่า เฮียนิรุจจะมีทางที่จะได้หุ้นคืนหรือเปล่า แล้วหุ้นมันครอบครองปรปักษ์ได้จริงหรือไม่

         ….อ้อลืมบอกไป ก่อนตอนที่จะเปลี่ยนชื่อใน บอจ.5 เฮียนิรุจได้ให้เพื่อนทำสัญญาถือหุ้นแทนคุณพ่อไว้   แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาโอนหุ้นกัน จะทำอย่างไรดี ?…”

 

คำตอบ คือ

  1. ในตอนที่เฮียนิรุจโอนหุ้นของคุณพ่อไปยังเพื่อนนั้น ไม่ได้ทำสัญญาโอนหุ้นกันไว้ การโอนหุ้นระหว่างพ่อเฮียนิรุจกับเพื่อนจึงมีผลเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 ผลก็ คือ หุ้นยังไม่ได้ถูกโอนไปยังเพื่อนของเฮียนิรุจ แม้ว่าใน บอจ.5 จะมีชื่อของเพื่อนเฮียอยู่ก็ตาม
  2. แม้ว่าการโอนหุ้นจะมีผลเป็นโมฆะ แต่ถ้ามีการครอบครองหุ้นนั้นโดยสงบและเปิดเผยมีเจตนาเป็นเจ้าของ ครอบครองติดต่อกันครบระยะเวลา 5 ปี เพื่อนของเฮียนิรุจก็อาจได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1182 แต่ข้อเท็จจริงตามที่เฮียนิรุจให้มานั้น ปรากฏว่าเฮียนิรุจได้ให้เพื่อนทำสัญญาถือหุ้นแทนคุณพ่อไว้ ดังนั้น การครอบครองหุ้นของเพื่อนเฮียนิรุจ จึงไม่ใช่การครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ว่าจะครอบครองนานเท่าใดก็ตามก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
  3. ขั้นตอนต่อไปที่เฮียนิรุจจะให้มีการบันทึกชื่อของคุณพ่อลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท และคัดสำเนานำส่งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายนั้น เฮียนิรุจก็เพียงแค่มีหนังสือแจ้งพฤติการณ์      ในการที่โอนหุ้นเป็นโมฆะนั้นให้แก่กรรมการของบริษัทนั้นทราบ กรรมการก็สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้ หากกรรมการเพิกเฉยก็ให้คุณพ่อของเฮียนิรุจฟ้องให้บริษัทและกรรมการจดแจ้งชื่อท่านลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท และคัดสำเนานำส่งนายทะเบียนได้

         แต่กรณีหากตัวเฮียนิรุจเป็นกรรมการเอง ก็ให้คุณพ่อเฮียนิรุจมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้กับเพื่อนของเฮียทราบ และให้คุณพ่อในฐานะผู้ถือหุ้นมีหนังสือแจ้งให้บริษัททราบตามระเบียบด้วย หลังจากนั้นเฮียนิรุจในฐานะกรรมการก็สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อของคุณพ่อและคัดสำเนานำส่งนายทะเบียนตามกฎหมายได้

โดย ทนายนำชัย พรมทา

086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!