จะรับโอนหุ้น หรือ ถือหุ้นแทนคนอื่น ต้องระวังการชำระค่าหุ้นไม่ครบ
Published by law_admin on
จะรับโอนหุ้น หรือ ถือหุ้นแทนคนอื่น ต้องระวังการชำระค่าหุ้นไม่ครบ
บทความวันก่อนเราได้มีการพูดถึงเรื่องการถือหุ้นแทนกันแต่ไปแล้ว แต่เราพูดถึงในมุมของเจ้าของหุ้นวันนี้เรามาดูการถือหุ้นแทนกันแต่เป็นในมุมของคนที่ถือหุ้นแทนคนอื่นบ้างว่ามีความเสี่ยงและมีเรื่องที่จะต้องพิจารณาอะไรบ้างก่อนเข้าไปถือหุ้นนั้น
สำหรับวันนี้ก็เช่นเคย ผมทนายนำชัย พรมทา จะขอนำคำถามจากท่านผู้อ่านทางบ้าน มาให้ทุกท่านได้ดูไปพร้อมๆกันว่า การถือหุ้นแทนคนอื่นโดยไม่พิจารณาก่อนนั้น ความหายนะจะมาเยือนท่านอย่างไรบ้าง ?
คำถามมีอยู่ว่า “..สวัสดีท่านทนายนำชัย วันนี้ผมมีเรื่องอยากรบกวนปรึกษาท่าน คือ เมื่อหลายปีก่อนมีญาติของผมขอให้ผมเข้าไปถือหุ้นในบริษัทของเขาโดยเขาบอกว่าให้ถือหุ้นลอยเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไร ถือเพียงเพื่อให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ผมก็เซ็นเอกสารให้เขาไป เวลาผ่านมาหลายปี ผมนึกว่าไม่มีอะไร แต่เมื่อประมาณสัปดาห์ก่อน ผมได้รับจดหมายเรียกจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ชำระค่าหุ้นของบริษัทที่ผมไปถือหุ้นซึ่งเขาบอกว่าผมยังค้างข้างหุ้นบริษัทอยู่อีกจำนวน 500,000 บาท ผมงงมากไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผมอยากเรียนถามท่านว่าผมต้องชำระค่าหุ้นนั้นหรือเปล่าครับทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ถือหุ้นจริงๆเลย แล้วผมต้องทำอย่างไรดีจึงจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ครับ รบกวนเพียงเท่านี้ครับ และ หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านตอบคำถามผมด้วยผมร้อนใจมาก ขอบพระคุณไว้ล่วงหน้าครับผม จากคุณจอน นามสมมุติ…”
คำตอบ
- แสดงว่าในชั้นการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้มีการบันทึกในการเรียกชำระค่าหุ้นยังไม่ครบถ้วน ถ้าเป็นดังนี้ ท่านในฐานะผู้ถือหุ้นย่อมมีหน้าที่ชำระค่าหุ้นในส่วนที่เหลือ ซึ่งกรรมการจะเรียกให้ท่านชำระเมื่อไรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1120 ซึ่งต่อมาเข้าใจว่าบริษัทดังกล่าวคงถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้ล้มละลาย และ ศาลคงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงมีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาจัดการทรัพย์สินของบริษัทและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงตรวจสอบทราบว่าบริษัทยังเรียกชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นยังไม่ครบถ้วนจึงได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นในส่วนที่เหลือ ซึ่งถ้าท่านไม่ชำระ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะนำหุ้นท่านออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอกับจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะฟ้องท่านเรียกเงินค่าหุ้นในส่วนที่ขาดอยู่นั้น
- แนวทางแก้ไขปัญหา ในชั้นนี้ท่านก็ยังไม่ต้องนำเงินไปชำระ รอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขายทอดตลาดหุ้นนั้นก่อน จะได้รู้ว่าได้เงินเป็นจำนวนมากหรือน้อยกว่าค่าหุ้นที่ค้างชำระ เพราะหากขายทอดตลาดหุ้นแล้วได้เงินมากกว่าจำนวนเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ เงินที่เกินนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องคืนให้แก่ท่านแต่ถ้าได้น้อยกว่า ก็ปล่อยให้ฟ้องคดีไป ท่านก็จ้างทนายสู้คดีไป และแม้ว่าท่านจะแพ้คดี หากท่านไม่มีทรัพย์สินใดๆในชื่อของท่าน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์หรือบังคับคดีเอากับท่านได้
ทุกท่านที่จะถือหุ้นแทนผู้อื่นขอให้พิจารณาให้ดีนะครับว่า หุ้นที่ท่านจะเข้าไปถือแทนนั้นได้มีการเรียกชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนมูลค่าหรือยัง ถ้ายัง ท่านไม่ควรจะเข้าไปถือหุ้นโดยเด็ดขาดเพราะทันทีที่ท่านถือหุ้น ท่านจะเป็นหนี้บริษัททันที ทั้งๆ ที่บางครั้งท่านไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริง
.
โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!