การย้ายสถานประกอบกิจการ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าใดกันแน่
Published by law_admin on
การย้ายสถานประกอบกิจการ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่าใดกันแน่ ?
เท่าที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอกับหลายๆบริษัท ยังเห็นอยู่ว่ามีความเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องนี้ คลาดเคลื่อน
กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ กำหนดไว้ในมาตรา 120 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่ง ก่อนปี พ.ศ. 2551 กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่ย้ายสถานประกอบกิจการ จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังที่ใหม่ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าชดเชยที่กำหนดไว้ในมาตรา 118
แต่กฎหมายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กฎหมายแก้ไขให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างกรณีย้ายสถานประกอบกิจการ ในอัตรา 100% ของค่าชดเชยตามมาตรา 118 พูดง่ายๆก็ว่า จ่ายเท่ากับเลิกจ้างปกตินั่นเอง นายจ้างบางรายก็คิดว่า ย้ายสถานประกอบกิจการเพื่อลดต้นทุนในการจ่ายค่าชดเชยกับลูกจ้าง เพราะคิดว่าถ้าเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยเต็ม แต่ถ้าย้าย จ่ายแค่ 50%
หนัก ๆ เข้าบางครั้งก็มีการเข้าใจผิดว่า การให้ลูกจ้างไปทำงานยังที่อื่น จะเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรานี้และ ก็จะหาเรื่องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรานี้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ การย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120 ต้องเป็นกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นกรณีนายจ้างมีสถานประกอบกิจการ เช่น มีโรงงาน หรือ สำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดอื่นอยู่แล้ว ต่อมามีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานยังสถานที่แห่งนั้น กรณีนี้ไม่ใช่การย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120 แต่เป็นเรื่องที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานยังสถานที่ของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งนั้นเอง ซึ่งคำสั่งในลักษณะนี้นั้น ต้องสั่งอย่างเป็นธรรม เพราะถ้าสั่งไปโดยไม่เป็นธรรมแล้วล่ะก็ ลูกจ้างเขาก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง หรือบางกรณีอาจถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างไปเลยก็ได้ (หมายถึงบีบให้ออกจากงาน) ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยด้วยก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจจะโดนมิใช่น้อย ดังนั้น นายจ้างที่ทราบ เรื่องนี้แล้วก็ ปฏิบัติให้ถูกต้อง นะครับ จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
.
โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!