ตกลงทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าแล้วว่าจะจ่าย “ค่าเลี้ยงดูบุตร” แต่เมื่อถึงเวลา ไม่จ่าย จะทำอย่างไร ?

Published by lawyer_admin on

ทำอย่างไร? เมื่อตกลงทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าแล้ว... ว่าจะจ่าย "ค่าเลี้ยงดูบุตร" แต่เมื่อถึงเวลา ไม่จ่าย

ตกลงทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าแล้วว่าจะจ่าย “ค่าเลี้ยงดูบุตร”
แต่เมื่อถึงเวลา ไม่จ่าย จะทำอย่างไร ?

              เป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว สอบถามเข้ามาเยอะมากไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Line official หรือบนเพจ Facebook ของสำนักงานฯ ดังนั้น ในวันนี้ทางสำนักงานเราจึงเห็นถึงปัญหาดังกล่าวเราจะมาอธิบายข้อกฎหมายระหว่างคู่สามีภริยาหลังจากที่หย่าขาดต่อกันแล้ว อาจประสบปัญหานี้อยู่อันเนื่องมาจาก #การกระทำผิดสัญญาหย่า (ทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่า) ว่าใครจะเป็นผู้ดูแลบุตร และใครจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร ซึ่งมีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในอนาคต หลังจากที่มีการฟ้องหย่าขาดแล้ว ว่าสินสมรสจะแบ่งกันอย่างไร บุตรจะอยู่ในการเลี้ยงดูของใคร และฝ่ายใดมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในส่วนที่ตกลงกันตามสัญญาหย่าอย่างไร เป็นต้น

               ดังนั้น เรามาดูกรณีคดีตัวอย่างกันว่า คดีนี้ฝ่ายชายได้ทำสัญญาหย่ากับฝ่ายหญิงเอาไว้ว่า ฝ่ายชายจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร แต่ปรากฏว่าเมื่อหย่าจากกันไปแล้วฝ่ายชายได้ลาออกจากงาน และได้เงินมาจากการลาออกจากงานมาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาบุตรตามที่ตกลงไว้ โดยอ้างว่าเงินที่ได้มานั้นเอาไปชำระหนี้นอกระบบหมดแล้ว ไม่มีเงินจ่าย ?

                 แล้วอย่างนี้ ในทางกฎหมายจะบังคับกับฝ่ายชายได้อย่างไร ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ ดังนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562 ว่าจำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร

                  มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่

 สรุป
สัญญาหย่าระบุไว้อย่างไร ต้องปฎิบัติเช่นนั้น ไม่สามารถอ้างเป็นเห็นอื่นได้
อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38

              ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!