#คดีอาญาโจทก์ร่วมไม่มาศาลในวันนัด ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่ ?

Published by lawyer_admin on

#คดีอาญาโจทก์ร่วมไม่มาศาลในวันนัด ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่ ?

#คดีอาญาโจทก์ร่วมไม่มาศาลในวันนัด ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่ ?

โจทก์ร่วมคือใคร ?
ในคดีอาญาซึ่ง #พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 30 โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในคดี ที่ศาลอนุญาตให้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม #เฉพาะแต่ความผิดอาญาในข้อหาที่ตนเป็นผู้เสียหาย ในทางปฏิบัติ คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้เสียหายจะขอถือเอาทั้งคำฟ้อง บัญชีพยาน และบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ ในสำนวน เป็นพยานหลักฐานของตนด้วย

#หากในวันนัดพนักงานอัยการมาศาล แต่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่มา ศาลจะยกฟ้องตามมาตรา 166 ได้หรือไม่ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2497
วินิจฉัยว่า “ในคดีซึ่งมีโจทก์ร่วมกันสองคนโจทก์คนหนึ่งมาอีกคนหนึ่งขาดนัดดังนี้ #จะยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุขาดนัดไม่ได้”

#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2492

วินิจฉัยว่า “คดีอาญา ผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์มา แต่ตัวโจทก์ไม่มาและโจทก์ไม่ได้ร้องขอเลื่อนคดี จะเรียกว่าโจทก์ขาดนัดไม่ได้ “

            ดังนั้น จึงพอสรุปหลักได้ว่า การที่ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดตามมาตรา 166 ต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายโจทก์ #ไม่มีใครมาเลยสักคน ซึ่งคำว่าโจทก์ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (14) หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน และศาลฎีกายังตีความรวมถึงทนายโจทก์ด้วย ที่จะนำมาพิจารณาเป็นเหตุยกฟ้องในมาตรา 166 เพราะโจทก์ขาดนัด จากคำถามนี้แม้โจทก์ร่วมจะไม่มาศาล แต่หากพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์มาศาล ศาลจึงไม่อาจยกฟ้องตามมาตรา 166 ได้

อย่างไรก็ดี คำว่า #มาศาล อันจะถือว่าเป็นการ #มาตามกำหนดนัด ในมาตรา 166 นั้น ต้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดีนั้นไม่ใช่แค่เข้ามาในรั้วศาล หรือไปทำหน้าที่ในคดีอื่น เช่นนี้ถือเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องตามมาตรา 166 ได้
ซึ่งเคยมี คำพิพากษาฎีกาที่ 1967/2549 วินิจฉัยว่า

…..ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว มีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนดนัด แม้ น. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนจะมาที่ศาลแล้วแต่ก็มิได้เข้าห้องพิจารณา คงไปทำหน้าที่แทนพนักงานอัยการในคดีอื่นและทำหน้าที่อื่น โจทก์อ้างว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาว่าความแทนโจทก์โดยโจทก์เองไม่ได้ใส่ใจว่าที่แท้จริงแล้วมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ศาลได้ประกาศเรียกโจทก์ให้เข้าห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 11.15 นาฬิกา #โจทก์ก็ไม่เข้าห้องพิจารณาคดีแถลงให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องของโจทก์ ทั้งที่โจทก์ได้มาอยู่ในบริเวณศาลแล้ว ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่า โจทก์เชื่อว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทนแล้วเพื่อให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะจงใจหรือไม่ใส่ใจในกำหนดนัดของศาลหาได้ไม่ #พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่หรือเล็งเห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาล เหตุที่โจทก์เชื่อดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวหรือยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้..

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!