ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัท

Published by lawyer_admin on

ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัท

#ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัท

        ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า กรรมการต้องรับผิดในการกระทำของตนเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับข้อบังคับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการเอาทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว ก็ต้องรับผิดใช้คืนและต้องใช้ดอกเบี้ย ถ้าเป็นการยักยอกทรัพย์ก็อาจต้องรับผิดทางละเมิดและทางอาญาด้วย ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาของกรรมการที่อาจจะต้องถูกผู้ถือหุ้นฟ้อง

        ก. ความรับผิดทางแพ่งของกรรมการ

        ผู้เข้ารับเป็นกรรมการของบริษัทย่อมถือว่ามีการตกลงโดยปริยายกับผู้ถือหุ้นว่าจะบริหารงานของบริษัทไปตามข้อบังคับและวัตถุประสงค์ของบริษัท นอกจากนั้น กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ถ้ากรรมการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นก็ฟ้องกรรมการให้รับผิดได้เป็นต้นว่า กรรมการไม่คืนเงินค่าหุ้นให้ในกรณีที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ภายใน ๓ เดือน ตามมาตรา ๑๑๑๒ หรือกรรมการประมาทเลินเล่อไม่ทำสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือใบหุ้นให้เรียบร้อยถูกต้องตามมาตรา ๑๑๖๘ (๒) เป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการโอนหุ้นหรือจำนวนเงินค่าหุ้น หรือกรรมการกลั่นแกล้งให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งได้รับความเสียหาย เมื่อผู้ถือหุ้นเสียหายเป็นส่วนตัวก็ย่อมมีสิทธิฟ้องให้กรรมการชดใช้ค่าเสียหายแก่ตนโดยตรงได้

การที่ผู้ถือหุ้นอาจฟ้องกรรมการที่ทำให้บริษัทเสียหายได้ตาม มาตรา ๑๑๖๙ แล้วยังฟ้องกรรมการได้โดยสิทธิของตนอีก ดูเหมือนผู้ถือหุ้นจะได้รับความคุ้มครองอยู่มาก แต่ตามความเป็นจริงเป็นการยากที่จะฟ้องให้กรรมการรับผิดได้ เพราะผู้ถือหุ้นไม่อยู่ในฐานะที่ทราบข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟ้องให้กรรมการรับผิดได้ การกระทำบางอย่างของกรรมการอาจถือว่า เป็นการใช้ดุจพินิจทางการค้า ถ้าทำโดยสุจริตและรอบคอบแล้วกรรมการหาต้องรับผิดไม่ นอกจากนั้นกรรมการอาจไม่ต้องรับผิดเพราะได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา ๑๑๗๐ ทั้งการฟ้องคดีมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลา คงไม่มีผู้ถือหุ้นคนใดอยากฟ้องนัก หากผู้ถือหุ้นจะหันไปใช้มาตราการอื่น เช่น ถอดถอนกรรมการ ก็ไม่ง่ายนัก เพราะกรรมการกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่มักจะเป็นฝ่ายเดียวกัน ทั้งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมาประชุม และมักจะมอบฉันทะให้กรรมการออกเสียงแทนด้วย คงเหลือวิธีเดียว คือถอนตัวออกจากบริษัทโดยขายหุ้นเสีย แต่ถ้าเป็นกรณีบริษัทเอกชน หรือบริษัทที่มิได้ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การขายหุ้นก็คงทำได้ไม่ง่ายนักเช่นกัน

        ข. ความรับผิดทางอาญาของกรรมการ

 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ห้ามมิให้กรรมการของบริษัทตลอดจนผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ทำการหลายอย่างเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของห้าง บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้และบุคคลภายนอก เพราะฉะนั้น กรรมการของบริษัทซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากจะต้องรับผิดในทางแพ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจต้องรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย เข่น ตามมาตรา ๓๘ กรรมการซึ่งแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงต่อที่ประชุมใหญ่ในเรื่องฐานะการเงินของบริษัทอาจถูกปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ตามมาตรา ๔๑ ถ้ากรรมการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นที่เสียหายแก่บริษัท อาจถูกปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ตามมาตรา ๔๒ ถ้ากรรมการทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอนหรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของบริษัท ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ มีความผิดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๓๙ ถ้ากรรมการเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ทั้งทรัพย์สินที่บริษัทจำนำไว้ ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๔๐ กรรมการรู้ว่าเจ้าหนี้ของบริษัทจะบังคับชำระหนี้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้บริษัทชำระหนี้ ย้าย ซ่อน หรือโอนทรัพย์สินของบริษัท หรือแจ้งให้บริษัทเป็นหนี้โดยไม่เป็นความจริง เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน อาจถูกจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ในการบริหารงานของบริษัท หากกรรมการกระทำผิดกฎหมาย กรรมการก็ย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัวด้วย ในบางกรณีกรรมการอื่นผู้ที่ไม่ได้ลงมือกระทำผิดด้วยก็อาจต้องข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดด้วยก็มี กล่าวคือ กรณีที่กรรมการถือว่าบริษัทกระทำผิด อาจมีข้อสันนิษฐานว่ากรรมการทุกคนต้องร่วมรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย กฎหมายที่มีข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีอยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ควบคุมการสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้น

        ฉะนั้น ท่านที่เป็นกรรมการบริษัทโดยไม่รู้กฎหมายก็ได้โปรดระวังตัวด้วยแล้วกัน วันดีคืนดีผู้ถือหุ้นอาจลุกขึ้นมาฟ้องร้องท่านได้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน ! ! !

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!