กล่องสุ่มแบบใดถือเป็นการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478

Published by lawyer_admin on

กล่องสุ่มแบบใดถือเป็นการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478

ในปัจจุบันกล่องสุ่มถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้จำหน่ายสินค้า เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ก็มีหลายกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการซื้อกล่องสุ่ม จากข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงสถานะทางกฎหมายของกล่องสุ่มในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน และในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะนำมาใช้บังคับกับกล่องสุ่มโดยตรง แต่เมื่อได้ศึกษาพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ก็มิได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “การพนัน” ไว้โดยตรง แต่พระราชบัญญัติการพนันฯ ได้นิยามความหมายโดยอ้อม ตามมาตรา 4 ทวิ วรรคสอง “คำว่า “การเล่น” หมายความรวมถึงการทายและการทำนายด้วย” ซึ่งหมายความว่าการพนันในความหมายของกฎหมายฉบับนี้รวมถึงการขันต่อด้วย ในมาตรา 5 บัญญัติว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่นซึ่งตามปกติย่อมจะพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน” และในมาตรา 9 บัญญัติว่า “การเล่นอย่างใดที่เสี่ยงโชคให้เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้เล่น” จะเห็นได้ว่าความหมายของการพนันคือจะต้องมีการเล่นที่มีลักษณะได้หรือเสียเงินหรือทรัพย์สินกันในตัว อีกทั้งคำว่า “การพนัน” ยังสามารถศึกษาคำนิยามได้จากแหล่งที่มาอื่น ดังนี้

1.ศาลฎีกาได้วินิจฉัยการเล่นที่เป็นการพนันไว้ว่า “จะต้องมีลักษณะที่ผู้เล่นเสี่ยงต่อการได้และเสีย”


2. คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะของการพนันเอาไว้อีกว่า “จะถือว่าเป็นการพนันได้ผู้เล่นจะต้องเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์”

ส่วนประเด็นที่ว่า กล่องสุ่มแบบใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการพนันสามารถจำแนกได้ดังนี้
1. กล่องสุ่มที่ไม่เข้าข่ายเป็นการพนัน คือ กล่องสุ่มซึ่งผู้จำหน่ายนำสินค้าที่มีราคารวมกันไม่ต่ำกว่าราคาสินค้าที่กำหนดมาจัดจำหน่ายโดยผู้ซื้อสินค้าไม่มีลักษณะได้หรือเสียประโยชน์ เช่น กล่องสุ่มทองรูปพรรณ ราคา 100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตามปกติขั้นต่ำไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งผู้ซื้อกล่องสุ่มได้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทองรูปพรรณที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ดังนั้นจึง ไม่มีลักษณะต่อการได้หรือเสียประโยชน์ อันเป็นลักษณะสำคัญของการพนัน จึงไม่ถือเป็นการจัดให้มีการพนันตาม พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478
2. กล่องสุ่มที่เข้าข่ายเป็นการพนัน คือ กล่องสุ่มที่เสี่ยงต่อการได้หรือเสียผลประโยชน์ เช่น การที่ผู้จำหน่ายกล่องสุ่มทำกล่องสุ่มออกมา 2 รูปแบบคือ กล่องสุ่มที่มีรวมกันเท่ากับหรือมากกว่าราคาสินค้าที่กำหนดไว้ในกล่องสุ่ม และอีกรูปแบบคือกล่องสุ่มที่มีรวมกันต่ำกว่าราคาสินค้าที่กำหนดไว้ในกล่องสุ่ม ซึ่งผู้ซื้อสินค้ามีสิทธิ์ที่จะได้กล่องสุ่มแบบใดก็ได้ถือเป็นกล่องสุ่มที่เสี่ยงต่อการได้หรือเสียผลประโยชน์ ซึ่งในลักษณะนี้จะพนันกันหรือจัดให้มีเพื่อให้พนันกันได้เฉพาะการเล่นที่ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติการพนันฯ มาตรา 4 ทวิ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นความผิด
3. กล่องสุ่มที่เข้าข่ายเป็นการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค คือ กล่องสุ่มที่มีมูลค่าสินค้ามากกว่าจำนวนเงินที่สั่งซื้อถือเป็นการแถมพกหรือมีการแจกรางวัลให้ลูกค้าบางราย เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถจักรยานยนต์ ถึงแม้ทุกกล่องจะได้รับสินค้าและของแถมพกหรือรางวัล แต่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าจะได้สินค้าหรือของแถมพกหรือรางวัลชนิดใด มีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายไปหรือไม่ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานถือว่าเป็นความผิด ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการพนันฯ พ.ศ. 2478 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
** พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “การแถมพก หมายถึง การแถมให้เป็นพิเศษ”




Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148

แชร์หน้านี้ !!