ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายทางจิตใจคืออะไร
ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายทางจิตใจคืออะไร
ค่าสินไหมทดแทน คือ การชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิด โดยมีความมุ่งหมายให้ผู้ที่ถูกทำละเมิดได้รับความเยียวยา และเพื่อให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือใกล้เคียงกับสถานะเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย “ค่าสินไหมทดแทน”จะเห็นได้จากบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
ซึ่งตามบัญญัติดังกล่าวผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะกรณีที่ได้รับความเสียหายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 420 เท่านั้น ดังนั้นจึงจะไม่รวมถึงความเสียหายต่อจิตใจอยู่ด้วยแต่การเรียกร้องค่าสินไหนทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อจิตใจ จะปรากฎอยู่ในบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โดยบัญญัติไว้ดังนี้
“ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องร้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้”
โดยมีแนวพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้ เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1447/2523
ลูกจ้างของบริษัทเดินรถโดยสาร เป็นสารวัตรควบคุมการเดินรถและตรวจตั๋วขับรถโดยประมาทในเส้นทางของบริษัทในทางค้าปกติเพราะคนขับไม่อยู่บริษัทต้องรับผิดในความเสียหายที่รถตก คนโดยสารต้องตัดแขนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 ต้องใช้ค่าเสียหายรวมถึงการที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องตัดข้อมือขวาใช้แขนเทียมแทนเสียความสามารถประกอบการงาน และการที่โจทก์ต้องเสียแขนขวาไปเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจดจทก์เป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2499
จำเลยฆ่าบุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ย่อมถือว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูไป โดยมิต้องคำนึงว่าในปัจจุบันบุตรที่ตายจะได้กำลังอึการะเลี้ยงดูโจทก์อยู่หรือไม่ ส่วนค่าเสียหายจะเท่าใดศาลย่อมกำหนดตามสมควร ส่วนค่าเสียหายเพื่อความวิปโยคโทมนัสนั้นเรียกไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เรียกร้องได้
จะเห็นได้ว่าตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองนั้นได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับประเด็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อจิตใจได้เฉพาะกรณีที่ความเสียหายต่อจิตใจเป็นผลที่เกิดมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพหรืออนามัยของผู้เสียหายและจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น จะเห็นได้จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองที่ได้ยกตัวอย่างขึ้นนั้น
อีกทั้งยังมีค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายทางจิตใจอยู่ในกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น ค่าเสียหายต่อจิตใจตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอกภัย พ.ศ.2551 มาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยาม คำว่า “ความเสียหายต่อจิตใจ” หมายความว่า ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ความโศกเศร้าเสียใจ ความอับอายหรือความเสียหายต่อจิตใจอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ส่วนการเยียวยาต่อผู้เสียหายนั้น ในมาตรา 11(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ดังนี้ ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้เสียหาย และหากผู้เสียหายถึงแก่ความตาย สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจ จะเห็นได้ว่าความเสียหายต่อจิตใจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะสามารถเรียกได้ก็ต่อเมื่อเกิดจากผลของสินค้าที่ไม่ปลอดภัยซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย สุขภาพหรืออนามัยเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นไม่สามารถเรียกร้องได้
แต่ในปัจจุบันยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยแตกต่างออกไปจากแนวบรรทัดฐานเดิม และทำให้เห็นว่าประเทศไทยให้การยอมรับต่อความเสียหายทางจิตใจมากขึ้น ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4571/2556 ได้พิพากษาว่า จำเลยถืออาวุธปืนติดตัวออกมาบริเวณทางเดินเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับถนนสาธารณะหลังจากมีปากเสียงกับโจทก์ ประกอบกับจำเลยยังรับข้อเท็จจริงในคดีนี้อีกว่า จำเลยได้พูดขู่เข็ญโจทก์ว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยแม้ว่าจำเลยจะมิได้ยิงอาวุธปืนดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่โจทก์เช่นนี้เป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของโจทก์แล้ว เพราะเป็นการทำให้โจทก์ตกใจกลัวเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้ได้ จะเห็นได้ว่าถึงแม้โจทก์จะไม่ได้รับความเสียหายต่อร่างกายก็ตาม ก็ยังสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อจิตใจของโจทก์ได้ จึงถือว่าได้ศาลไทยได้มีการยอมรับความเสียหายทางจิตใจมากขึ้นนั่นเองเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายลักษณะละเมิดให้สามารถเยียวยาผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายกลับคือสู่สถานะเดิมให้ได้มากที่สุด
ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายทางจิตใจทางกฎหมายเรียกว่า “ค่าสินไหมทดแทนอันมิใช่ตัวเงิน” เป็นความเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดซึ่ง ในปัจจุบันมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่าผู้เสียหายสามารถสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนอันมิใช่ตัวเงินได้ หากถูกทำละเมิดจนส่งผลกระทบเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจถึงแม้การทำละเมิดนั้นจะไม่ได้เป็นผลมาจากความเสียหายต่อร่างกายก็ตาม
#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148
ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Youtube : https://www.youtube.com/@numchailawyer_channel
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
#สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, #กฎหมาย, #นำชัยพรมทา, #บทความกฎหมาย, #คลังความรู้กฎหมาย, #ปรึกษากฎหมายฟรี, #ปรึกษาด้านกฎหมาย, #จ้างทนายความ, #ทนายคดีอาญา, #ทนายคดีแพ่ง, #จ้างทนายความ, #ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู, #ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัท,