การเปลี่ยนตัวนายจ้าง ถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
การเปลี่ยนตัวนายจ้าง ถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และถ้าลูกจ้างไม่ยอมจะเปลี่ยนตัวนายจ้างได้หรือไม่
เรื่องราวระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นปัญหาขึ้นสู่ศาลแรงงานเป็นประจำและในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ามีข้อพิพาทเพิ่มมากขึ้น เรื่องที่มักมีปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนตัวนายจ้าง เช่น หากนายจ้างเป็นบุคคลธรรมดาก็อาจเป็นเพราะนายจ้างโอนกิจการให้บุคคลอื่นดำเนินธุรกิจต่อไป หรือกรณีที่นายจ้างปิดกิจการแล้วโอนลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น หากนายจ้างเป็นนิติบุคคล ก็เช่น การควบกิจการ หรือ ปิดกิจการแล้วต้องการจะโอนลูกจ้างไปยังบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่นอย่างนี้ เป็นต้น ปัญหาที่ลูกจ้างและนายจ้างมักจะสงสัย คือ กรณีจะถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และ การโอนลูกจ้างให้กับนายจ้างอื่นโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันนะครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 กำหนดว่า “ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับ นิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ”
มาตรา 118 วรรคสอง กำหนดว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป”
ดังนั้น จึงสรุปหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เป็นดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างตามกฎหมายแรงงานแก้ไขใหม่ว่าต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้น ประเด็นนี้ก็ชัดเจนแล้วนะครับว่าการเปลี่ยนตัวนายจ้าง การโอนลูกจ้างไปยังนายจ้างใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยอมก็ทำไม่ได้แล้วนะครับ
- การเปลี่ยนตัวนายจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่เดิมของลูกจ้าง หมายความว่า ค่าจ้าง สวัสดิการ วันหยุด หรือ ระเบียบเดิมที่นายจ้างเดิมมีอยู่อย่างไร นายจ้างใหม่ก็ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติกับลูกจ้างต่อไปเช่นเดิม
- ส่วนประเด็นว่าการเปลี่ยนตัวนายจ้างเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้นตามกฎหมายแรงงานให้ความหมายของคำว่าเลิกจ้างไว้ว่า “การเลิกจ้าง” หมายถึง การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้
ดังนั้น การเปลี่ยนตัวนายจ้างใหม่จะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 118 วรรคสองนี้ประกอบด้วย หมายความว่า ถ้านายจ้างใหม่ยังให้ลูกจ้างทำงานต่อไป นับอายุงานให้ต่อเนื่อง และจ่ายค่าจ้างให้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง แต่ถ้านายจ้างใหม่จ่ายค่าจ้างหรือจัดสวัสดิการให้น้อยกว่านายจ้างเดิม ลูกจ้างก็สามารถฟ้องให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องได้ แต่ถ้านายจ้างใหม่ต้องให้ลูกจ้างเขียนใบสมัครใหม่ ไม่นับอายุงานให้ต่อเนื่องจากนายจ้างเดิม อย่างนี้ถือว่านายจ้างเก่าได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว และ เมื่อเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย (สำคัญมาก+++)
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายแก้ไขใหม่ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างหรือการโอนลูกจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ปัญหาว่านายจ้างโอนลูกจ้างไปให้กับนายจ้างอื่นแล้วให้ลูกจ้างไปเสี่ยงเอาเองว่านายจ้างใหม่จะให้สิทธิต่อจากเดิมและนับอายุงานต่อจากเดิมให้หรือไม่ก็จะไม่มีแล้วครับเพราะถ้าลูกจ้างไม่มั่นใจ นายจ้างไม่ทำเอกสารให้ชัดเจน ลูกจ้างก็ไม่ยอม ไม่เซ็นเอกสารให้ ก็โอนย้ายลูกจ้างไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าบริษัทเดิมปิดตัวลงแล้วจะโอนลูกจ้างไปยังบริษัทในเครือแล้วลูกจ้างไม่ยอมก็ย่อมถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างแน่นอนเพราะบริษัทเดิมปิดไปแล้วไม่มีนายจ้างเดิม และไม่มีนายจ้างใหม่
เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2530 “บริษัทจำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงโอนโจทก์ไปทำงานที่ห้าง ศ. โดยโจทก์ต้องเขียนใบสมัครใหม่และไม่มีการนับอายุงานต่อเนื่อง ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นการโอนตัวลูกจ้าง”
หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ช่วยกดแชร์ส่งต่อเป็นกำลังใจให้สำนักงานฯและผู้เขียนด้วยนะครับ+++++
โดยทนายนำชัย พรมทา
โทร. 086-331-4759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ