โจรขึ้นบ้าน จะฟ้องนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้ชดใช้ได้หรือไม่
Published by law_admin on
โจรขึ้นบ้าน จะฟ้องนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้ชดใช้ได้หรือไม่ ?
ในยุคปัจจุบันนี้การจะซื้อที่พักอาศัย ถ้าไม่พักคอนโดก็ต้องเลือกซื้อบ้านในโครงการบ้านจัดสรร แต่บางครั้งเมื่อเกิดเหตุที่ไม่พึงปรารถนาอย่างเช่น มีขโมยมางัดแงะบ้านเข้าไปขโมยสิ่งของ ปัญหาประการหนึ่งที่เจ้าของบ้านมักจะนึกถึงคือความรับผิดชอบของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้น ควรจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ลูกบ้านหรือไม่ เพียงใดด้วยเหตุที่ลูกบ้านได้จ่ายค่าส่วนกลางอยู่ทุกเดือน ปัญหานี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานฯเราจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้
เฮียนิรุจ ลูกความเจ้าเก่าผมที่ได้ไปซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงถึง 10,000,000 บาท โดยเฮียนิรุจต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตกเดือนละ 8,000 บาท และต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี วันหนึ่งเมื่อเฮียนิรุจต้องพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ภูเก็ต และเมื่อกลับมาถึงบ้านก็สังเกตเห็นว่าประตูบ้านแง้มเปิดออกอยู่ เฮียนิรุจรีบเข้าไปดูปรากฏว่าข้าวของมีค่าหลายชิ้นหายไป ที่สำคัญ คือ ตู้เชฟที่เฮียไว้เก็บเงินสด พระเครื่อง และนาฬิกาหรู ที่อยู่ในห้องนอนชั้นสองหายไป รวมมูลค่าทรัพย์สินที่หายไปกว่า 1,000,000 บาท เฮียนิรุจโกรธมากจึงอยากฟ้องให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและบริษัทรักษาความปลอดภัยที่นิติบุคคลจ้างมาดูแลให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่หายไปนั้น จะทำได้หรือไม่?
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องพิจารณาประการแรกก็คือ หน้าที่และความรับผิดชอบของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือมีหน้าที่ในการรับผิดชอบรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของบุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรนั้นหรือไม่
หากพิจารณาดูตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์และภาระหน้าที่ที่สำคัญของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร คือ การดูแลจัดการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ความเรียบร้อยของทรัพยสินส่วนกลาง การจราจร หรือการจัดให้มีบริการสาธารณะหรือเพื่อสวัสดิการโดยรวม แม้อาจจะมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยอยู่ด้วยแต่เป็นหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินที่เป็นของส่วนกลางของสมาชิกทุกคนมากกว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินส่วนบุคคลของสมาชิกที่เป็นลูกบ้านแต่ละคน
แม้ตามปกติของหมู่บ้านจัดสรรที่มีการดูแลการจัดการที่ดีส่วนใหญ่จะมีระบบการรักษาความปลอดภัยด้วยการจัดให้มีบริษัทรักษาความปลอดภัยไปดูแลตั้งแต่การตรวจสอบรถและบุคคลที่เข้าออก อาจจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราภายในบริเวณหมู่บ้านด้วย ซึ่งแน่นอนว่าค่าส่วนกลางที่สมาชิกเสียไปก็รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่วัตถุประสงค์ของการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวก็เพื่อความปลอดภัยโดยรวมของหมู่บ้าน และดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เห็นได้ว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งรวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัยที่นิติบุคคลจ้างมามีหน้าที่โดยตรงเฉพาะการดูแลรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยโดยรวมของหมู่บ้านและสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้าน แม้ว่าการดูแลนั้นอาจจะส่งผลถึงความปลอดภัยของบ้านของสมาชิกแต่ละคนไปด้วยก็ไม่ได้ทำให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สินส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละรายไปด้วย
นอกจากนั้น ในกรณีอย่างเช่นคดีนี้ แม้จะมีทรัพย์สินที่มีค่ารวมถึงตู้เชฟที่ถูกขโมยไป แต่ทรัพย์สินและ ตู้เชฟดังกล่าวไม่ได้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ สามารถใส่ไว้ในรถที่ผ่านเข้าออกได้ ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่ารถที่ลักนำทรัพย์ดังกล่าวเป็นรถคันใด หากเป็นรถยนต์ที่มีสติ๊กเกอร์ของหมู่บ้านอยู่ก็อาจผ่านเข้าออกได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจตรามาก หรือหากเป็นรถของบุคคลภายนอกแม้จะมีการแลกบัตรและตรวจตรามากขึ้นแต่ก็คงไม่สามารถตรวจตราโดยละเอียดทุกคันได้ โดยไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีเหตุที่ทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยสังเกตเห็นความผิดปกติเป็นพิเศษที่แสดงถึงความไม่ใส่ใจในหน้าที่ของตน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ในกรณีลักษณะนี้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและบริษัทรักษาความปลอดภัยไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่เฮียนิรุจ ?
**เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2562 พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ได้บัญญัติให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ดูแลและจัดการทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ โดยจัดการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคส่วนรวม ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าบริการสาธารณะต่างๆรวมทั้งดูแลรักษาความปลอดภัย ในสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลางไม่รวมถึงทรัพย์สินส่วนบุคคลอันหมายถึงบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านนั้น ส่วนการรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านจัดสรร เช่น การเข้าออกหมู่บ้านจัดสรรมีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลความเรียบร้อย มีหน้าที่ตรวจตราดูแลบุคคลและรถยนต์เข้าออก ตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การแลกบัตรเข้าออก หรือการตรวจสอบทรัพย์สินที่ขนเข้าออกอย่างผิดปกติ รวมทั้งตรวจตราถนนหนทางในบริเวณหมู่บ้านจัดสรรว่ามีสิ่งแปลกปลอมหรือบุคคลภายนอกที่อาจเป็นมิจฉาชีพเข้ามารบกวนเพื่อประสงค์ร้ายในหมู่บ้านจัดสรรเพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบที่หมู่บ้านจัดสรรกำหนดไว้ ซึ่งเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยมนหมู่บ้านจัดสรร หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งเป็นทรัพย์สินภายในบ้านของโจทก์ไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสิ่งผิดปกติที่เกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของนิติบุคคลถึงขนาดร้ายแรงแล้วไปกระทบทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลย เช่น บ้านของโจทก์ถูกทุบทำลายบานประตูหน้าต่างอย่างสังเกตเห็นได้ชัดแล้วๆไม่เข้าไปตรวจตราดูแลหรือแจ้งแก่เจ้าของบ้าน หรือตู้เซฟของโจทก์มีขนาดใหญ่และขนใส่รถมาด้วยสังเกตได้โดยง่ายโดยที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเห็นแล้วไม่ตรวจสอบและไม่ทักท้วง ซึ่งตู้เซฟของโจทก์มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนักและสามารถนำมาใส่ท้ายรถยนต์ได้ หากรถยนต์มีสติ๊กเกอร์ของหมู่บ้านจัดสรรก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสิ่งของภายในรถยนต์ที่เข้าออก ดังนั้นรถยนต์ของคนร้ายจึงอาจเป็นรถที่ได้รับอนุญาตเข้าออกหมู่บ้านจัดสรรได้ พนักงานรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านจึงไม่เห็นและตรวจสอบได้ เมื่อไม่ปรากฎว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกคนร้ายลักไปนั้นนำออกจากหมู่บ้านจัดสรรเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ทนายสถิตย์ อินตา
083-5681148
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!