ขายของไม่มีสัญญา…จะฟ้องคดีได้หรือไม่

Published by law_admin on

ขายของไม่มีสัญญา…จะฟ้องคดีได้หรือไม่
ขายของไม่มีสัญญา…จะฟ้องคดีได้หรือไม่

ขายของไม่มีสัญญาจะฟ้องคดีได้หรือไม่ ?

          ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนทั้งที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า หรือนักธุรกิจ ต้องเจอปัญหานี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะช่วงโควิดแบบนี้ คือ การขายสินค้าไปแล้ว แต่ลูกค้ากลับไม่ยอมจ่ายเงิน

          พยายามติดตามทวงถามก็มีแต่เงียบ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ดีนั้นเมื่อไม่มีทางที่จะทวงเงินจากลูกค้าได้แล้ว ทางเลือกสุดท้ายก็ต้องใช้วิธีการฟ้องร้องเพื่อขอบารมีของศาลเป็นที่พึ่งช่วยบังคับให้ลูกค้าจ่ายเงิน (ถ้าราคาสินค้ามีมูลค่าสูงพอ)

          ดังนั้น ในวันนี้ผู้เขียนในฐานะทนายความจะเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังกันว่า หากขายของไปแล้ว แต่ไม่มีสัญญาซื้อขายจะฟ้องให้อีกฝ่ายจ่ายเงินได้หรือไม่ ? (เฉพาะการซื้อขายสินค้าประเภทสังหาริมทรัพย์)

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วางหลักไว้ว่า “…การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

          สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

          บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย…”

          ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าเนื่องจากกฎหมายนั้นได้กำหนดให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ (เช่น รถยนต์ สร้อยทอง แหวน นาฬิกา หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่จำพวกที่ดิน บ้าน คอนโด) ซึ่งราคา 20,000 บาทขึ้นไปนั้น จะต้องมีหลักฐานถึงจะฟ้องร้องกันได้  กล่าวคือ “…ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ…”  เช่น สัญญาซื้อขาย หรือใบสั่งซื้อที่มีลายเซ็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย(PO) หรือข้อความในแชทไลน์ที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ตกลงซื้อขายกัน ฯลฯ เป็นต้น

          แต่ถ้าการซื้อขายนั้นไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายหรือเอกสารใด ๆ เป็นหนังสือไว้เลยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงซื้อขายกันจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายก็ได้บอกต่อว่า “…หรือ ได้วางประจำไว้(มัดจำไว้) หรือ ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..ก็ยังพอฟ้องได้อยู่

          ยกตัวอย่างเช่น …. เฮียนิรุจ เป็นพ่อค้าขายผักนำเข้าและเครื่องปรุงในตลาดล้านเมือง จังหวัดเชียงราย  วันหนึ่งมีเจ้รจนาเจ้าของร้านอาหารดังในจังหวัดซึ่งเป็นลูกค้าประจำ ได้โทรศัพท์มาสั่งซื้อผักและเครื่องปรุงจำนวนมากเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร เนื่องจากลูกค้าได้เหมาร้านอาหารของตนเพื่อจัดเลี้ยงพนักงาน รวมเป็นเงินกว่า 50,000 บาท โดยขอเครดิตจากเฮียนิรุจ 30 วัน กล่าวคือ จะนำเงินมาจ่ายหลังจากได้รับเงินจากลูกค้าที่เหมาร้านของตนนั้นเอง และด้วยความที่เฮียนิรุจเป็นคนใจดีและเห็นว่าเจ้รจนาเป็นลูกค้าประจำจึงตกลงขายและนำผักพร้อมเครื่องปรุงที่สั่งซื้อทางโทรศัพท์นั้นไปส่งมอบให้กับเจ้รจนาที่ร้านอาหาร

          จะเห็นได้ว่าการซื้อขายในครั้งนี้ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานใด ๆ เป็นหนังสือไว้เลย เพราะสั่งซื้อกันผ่านทางโทรศัพท์ อีกทั้งเมื่อครบ 30 วัน เจ้รจนากลับไม่ยอมชำระเงินตามที่ตกลง เอาแต่บ่ายเบี่ยงอ้างสารพัด พลัดวันไปเรื่อย ๆ

          เฮียนิรุจหมดความอดทนจึงต้องการฟ้องร้องเรียกเงินค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย แต่เมื่อไม่มีสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือเลย จะฟ้องร้องได้หรือไม่ ?

          คำตอบก็คือ ฟ้องได้ แม้ว่ากรณีเฮียนิรุจจะไม่มีสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อเฮียนิรุจได้ส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้รจนาครบถ้วนไปแล้ว จึงต้องถือว่าได้มีการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายไปแล้วนั้นเอง (แต่งานหนักจะอยู่ที่ทนายความ เพราะต้องนำสืบให้ได้ว่าสินค้าตกลงซื้อขายอะไร จำนวนเท่าไร กี่บาทและได้ส่งมอบครบถ้วนแล้ว จากพยานบุคคลแทน )

          เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555 “…ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า “…หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว…” ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว…”

          สรุปคำตอบ คือ หากมีการวางเงินมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน(ส่งมอบสินค้า) ก็สามารถฟ้องบังคับคดีได้

สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!