ค่าคอมมิชชั่น ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ถือว่าเป็นเงินเดือนหรือไม่

Published by law_admin on

ค่าคอมมิชชั่น ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ถือว่าเป็นเงินเดือนหรือไม่ ?
ค่าคอมมิชชั่น ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ถือว่าเป็นเงินเดือนหรือไม่ ?

ค่าคอมมิชชั่น ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ถือว่าเป็นเงินเดือนหรือไม่ ?

         ในชีวิตคนเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ทนทำงานอยู่ทุกวันนี้ก็ทำเพื่อเงินทั้งสิ้น ซึ่งสำหรับชีวิตของลูกจ้างแล้วนั้นสิ่งที่ดึงดูดให้ทำงานกับนายจ้างบริษัทนั้นๆ ก็คงหนีไม่พ้น “เงินเดือน หรือ ค่าจ้าง” หรือสวัสดิการต่างๆ ที่นายจ้างตกลงจะจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนจากการทำงาน

         โดยเฉพาะลูกจ้าง ประเภทที่ต้องหาลูกค้าหรือหายอดขายให้กับบริษัท (กลุ่มเซลส์) นายจ้างมักจะกำหนดค่าตอบแทนอย่างอื่นเพิ่มเติมจากเงินเดือน เช่น มีค่าน้ำมันรถ , ค่าทางด่วน , ค่าโทรศัพท์ รวมไปถึงค่าตอบแทนจากการทำยอดขายได้ตามเป้าที่นายจ้างตั้งไว้ หรือที่เรียกกันว่า ค่าคอมมิชชั่น นั้นเอง

         ซึ่งค่าตอบแทนเหล่านี้แม้จะไม่ได้เรียกว่า “เงินเดือน หรือ ค่าจ้าง แต่ถ้ามีลักษณะการจ่ายที่เป็นประจำแน่นอนทุกเดือน กฎหมายให้ถือว่าค่าตอบแทนเหล่านี้เป็นค่าจ้าง

         ยกตัวอย่างเช่น นายบีเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทของเฮียนิรุจ ซึ่งทุกๆเดือนเฮียนิรุจจะจ่ายค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์ให้ทุกเดือนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จ มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือ แต่ได้รับเนื่องจากการทำงานตามปกติ ดังนั้น จึงถือว่าเงินที่นายบีได้รับเหล่านี้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง (ตามคำพิพากษาที่ 7316/2549 ลูกจ้างได้รับเงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์มือถือทุกเดือนเป็นจำนวนเงินแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อนายจ้าง มิใช่เป็นสวัสดิการ แต่เป็นการตอบแทนการทำงาน ถือเป็นค่าจ้าง ต้องรวมคำนวนเป็นค่าชดเชย

         แต่สำหรับเงินค่าคอมมิชชั่นนั้น หากเป็นเงินที่นายจ้างมีไว้สำหรับจูงใจลูกจ้างเพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างสามารถทำงานหรือทำยอดขายได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ จึงไม่มีลักษณะเป็นที่แน่นอนตายตัว

         ยกตัวอย่างเช่น เอียนิรุจนายจ้างตั้งเงินค่าคอมมิชชั่นไว้โดยจะจ่ายให้แก่นายบีลูกจ้างตามผลงานที่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้า มีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่เท่ากันทุกเดือน และหากทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าก็จะไม่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นนี้ ดังนั้น จะเห็นว่าเงินค่าคอมมิชชั่นไม่ใช่ค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของลูกจ้าง จึงไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้าง (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2246/2548 วินิจฉัยว่า เงินจูงใจเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณให้ตามผลงานที่พนักงานสามารถทำยอดขายได้ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนดเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่จ่ายไม่แน่นอน ไม่เท่ากันทุกเดือน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายซึ่งนายจ้างจะกำหนดเป็นปี ๆ ไปหากทำการขายได้ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดก็จะไม่ได้รับเงินจูงใจ  นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำเพื่อตอบแทนการทำงานขายในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ซึ่งรวมทั้งเงินค่าจ้างในวันหยุดและวันเวลาที่พนักงานขายไม่ได้ทำงานด้วย ส่วนเงินจูงใจตกลงจ่ายให้เฉพาะพนักงานที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่กำหนด อันเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำยอดขายเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง อีกทั้งจ่ายเงินจูงใจเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี อันไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินจูงใจจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

         คำพิพากษาฎีกาที่ 3728/2524 เงินเพิ่มแรงจูงใจเป็นเงินเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างมาตรฐานอีก 50% เพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานที่พยายามเพิ่มผลผลิต เห็นว่า เงินเพิ่มแรงจูงใจนี้เป็นนโยบายของนายจ้างเพื่อกระตุ้นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานเต็มความสามารถ พนักงานของจำเลยจะมีโอกาสได้รับเงินเพิ่มแรงจูงใจมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความวิริยะอุตสาหะของตนเอง เป็นเงินที่จำเลยเพิ่มให้ตามผลงานที่ทำได้เกินกว่ามาตรฐาน มีลักษณะการจ่ายไม่แน่นอนมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ผลงาน เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานตอบแทนความดีของลูกจ้าง ไม่มีลักษณะเป็นค่าจ้าง)

         เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงมีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องสนใจว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้นั้นจะถือเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือไม่ ?

         สรุปคำตอบก็คือ ถ้าหากเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง เงินดังกล่าวก็จะนำไปเป็นฐานคำนวณสำหรับคำนวณค่าชดเชยเมื่อท่านถูกเลิกจ้างนั้นเอง




สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!