สัญญาจ้างแรงงาน ช่วยลดต้นทุนกิจการได้อย่างไร ตอนที่ 1
Published by law_admin on
สัญญาจ้างแรงงาน ช่วยลดต้นทุนกิจการได้อย่างไร ตอนที่ 1
หลายๆบทความก่อนหน้าผู้เขียนได้เขียนบทความกฎหมายแรงงานในมุมของลูกจ้างเสียเป็นส่วนใหญ่ วันนี้เรามาดูในมุมของนายจ้างกันบ้างว่า ใช้กฎหมายแรงงานบริหารต้นทุนของกิจการได้อย่างไรบ้าง และแน่นอนครับ การที่ลูกจ้างจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ ก็ต้องมีงานที่ดีทำ และ การจะมีงานที่ดีทำก็ต้องมีนายจ้าง นายจ้างอยู่ได้ลูกจ้างถึงจะอยู่ได้ และแน่นอนอีกเหมือนกันว่าวัตถุประสงค์หลักของนายจ้าง ก็ต้องเพื่อแสวงหากำไร เพราะหากลงทุนแล้วไม่มีกำไรก็สู้เก็บเงินไว้แล้วนอนอยู่บ้านดีกว่า สำหรับประเด็นวันนี้เราจะมาดูกฎหมายแรงงานเพื่อบริหารต้นทุนของนายจ้างกันบ้าง และ วันนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานว่า สัญญาจ้างแรงงานนั้น ช่วยลดต้นทุนของกิจการได้จริงหรือไม่
- โดยหลักตามกฎหมายแรงงงานแล้ว เมื่อมีการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างย่อมต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 เช่น ลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาครบ 3 ปี มีเงินเดือนอัตราสุดท้ายก่อนออกจากงาน 10,000 บาท ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน (หกเดือน) คือ 60,000 บาท อย่างนี้เป็นต้น และ หากการเลิกจ้างไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งถึงสองเดือนสิ่งเหล่านี้ก็คือต้นทุนอย่างหนึ่งของนายจ้างซึ่งการบริหารต้นทุนในส่วนนี้จะได้กล่าวถึงในบทความต่อๆไป
- หากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หมายความว่า เหตุแห่งการเลิกจ้างนั้น ไม่ใช่เหตุร้ายแรง หรือ ไม่เข้าเงื่อนไขที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ตามกฎหมาย ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าชดเชย เห็นหรือยังว่าหากนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างอาจต้องจ่ายทั้งค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และ อาจต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ.2522 มาตรา 49 ภาษาชาวบ้านเรียกว่าโดน 2 เด้ง ถ้ารวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) เข้าไปด้วยก็อาจเป็น 3 เด้ง
- หากมีการจัดทำสัญญาจ้างแรงงาน โดยให้ลูกจ้างลงชื่อในขณะเริ่มจ้างงาน และ กำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างไว้โดยชัดแจ้ง เช่น สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งหากทำสัญญาจ้างและกำหนดเวลาในสัญญาจ้างไว้ สัญญาจ้างนั้นย่อมสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า (สัญญาจ้างสิ้นสุดโดยผลของสัญญา) ทั้งนี้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั่นเอง ดังนั้น ในกรณีนี้แม้ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานก็ตาม แต่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือ หากจะเลิกจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา อย่างน้อยหากจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญา ก็ไม่เกินไปกว่าระยะเวลาตามสัญญาจ้างนั้น
เพียงเท่านี้ กิจการหรือบริษัทของท่านก็สามารถลดต้นทุนจากการจ้างพนักงานไปหลายหมื่นหลายแสนบาทต่อปีเลยทีเดียว
ใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาคือคนที่เข้าใจธรรมชาติ แต่ถ้าใช้กฎหมายเพื่อรังแกคนที่อ่อนแอกว่า เรียกว่าใช้กฎหมายสร้างปัญหา เรียกว่าคนเห็นแก่ตัว หวังว่าทุกท่านจะใช้กฎหมายเพียงเท่าที่เหมาะสมกับความพอดีพองามนะครับ เพราะเมื่อมีฝ่ายใดได้ประโยชน์จากกฎหมาย ย่อมมีอีกฝ่ายเสียประโยชน์เป็นธรรมดา สำหรับวันนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี สวัสดีครับ
ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!