เงินดาวน์…..ฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี

Published by lawyer_admin on

เงินดาวน์.....ฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี

เงินดาวน์…..ฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี

          ⏺กู้ไม่ผ่าน  ⏺ดาวน์ไม่ไหว ⏺สร้างล่าช้า ⏺สร้างผิดแบบ ⏺ส่วนกลางผิด ⏺พื้นที่เกิน ⏺ทางเข้ามีปัญหา ⏺สร้างช้าเพราะEIA  ⏺หรือเปลี่ยนใจไม่ซื้อ ⏯สามารถฟ้องเรียกคืนเงินดาวน์ได้ทุกกรณีครับ

          แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจความหมายของเงินกันก่อนนะครับ !!

  1. #เงินจอง คือ เงินที่จ่ายให้ ก่อนวันทำสัญญา(เงินมัดจำ) เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้จะขาย
  2. #เงินทำสัญญา คือ เงินที่จ่ายให้ ในวันทำสัญญา(เงินมัดจำ) เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย
  3. #เงินดาวน์ คือ เงินที่จ่ายให้เป็นงวดๆ หลังวันทำสัญญา เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนก่อนถึงกำหนดวันซื้อขาย

          เงินจอง เงินทำสัญญา เป็นเงินที่มอบให้แก่กันไว้ อันมีลักษณะเป็น “มัดจำ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เว้นแต่สัญญาจะเขียนกำหนดไว้ว่าเป็นการวางเงินไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งหากผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ ผู้จะขายย่อมมีสิทธิริบเงินเหล่านี้ได้ในฐานะที่เป็นมัดจำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378

     ส่วนเงินดาวน์  ไม่ใช่มัดจำ เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาได้ให้ต่อกันไว้ในวันทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะขายย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้  เว้นแต่ในกรณีสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อสัญญาระบุไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ระบุในสัญญาทำนองว่า “…หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ให้ผู้จะขายมีสิทธิริบเงินดาวน์…” กรณีดังกล่าว ย่อมทำให้เงินในส่วนนี้กลายเป็น “เบี้ยปรับ” ที่ผู้จะขายมีสิทธิริบได้หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่หากสูงเกินส่วนศาลก็สามารถปรับลดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547

โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้

  #สำหรับเงินทำสัญญา แม้จะถือเป็นเงินมัดจำ ซึ่งทางโครงการมีสิทธิริบก็ตาม แต่หากมัดจำนั้นสูงเกินส่วน ตามพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติให้อำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2556 (ฟ้องเรียกคืนได้ ส่วนจะได้คืนเท่าไหร่ เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2556

คดีนี้จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำหนี้ส่วนที่เหลือแก่จำเลยได้ และเงินจำนวน 50,000 บาทที่จำเลยวางไว้ในวันทำสัญญาจองและเงินจำนวน 238,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ให้แก่โจทก์ในวันสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีลักษณะเป็นเงินมัดจำ เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบส่วนนี้ได้ ส่วนเงินที่โจทก์ชำระ ได้ให้แก่จำเลยอีก 2 งวด งวดละ 238,500 รวมเป็นเงิน 477,000บาท นั้นมิใช่มัดจำเนื่องจากเป็นเงินที่โจทก์ชำระหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาค่าบ้านและที่ดินเงินส่วนนี้จึงถือเป็นเงินดาวน์ไม่ใช่เงินมัดจำแต่อย่างไรก็ดีตามสัญญามีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ได้หากโจทก์ผิดสัญญา เงินดาวน์ส่วนนี้จึงถือเป็นเบี้ยปรับที่จำเลยมีสิทธิริบจากโจทก์เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

    แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 238,000 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 477,000 บาท ได้ดังกล่าว แต่ในส่วนของมัดจำหากมีกรณีต้องริบและมัดจำนั้นสูงเกินส่วน ตามพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติให้อำนาจศาลลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ส่วนเบี้ยปรับนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ได้ให้อำนาจศาลในการปรับลดอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้คำนึงถึงทางได้เสียหายทุกอย่างของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยมีสิทธิรับมัดจำและเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 150,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 สรุปเลยนะครับ

        1) #เงินจอง #เงินทำสัญญา ถือเป็นมัดจำ โครงการมีสิทธิริบได้ แต่หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจปรับลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริง ดังนั้น เวลายื่นฟ้อง เราจะฟ้องเรียกเงินค่าทำสัญญาคืนด้วย เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดความเสียหายให้ ส่วนจะได้คืนมากน้อยเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล

        2) #เงินดาวน์ #ฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี

  1. กรณีแรก หากสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้กำหนดข้อตกลงไว้ว่า “หากฝ่ายผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้ถือว่าเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมดเป็นค่าเสียหาย และโครงการมีสิทธิริบได้” กรณีเช่นนี้ สามารถฟ้องเรียกคืนเงินดาวน์ได้เต็มจำนวน
  2. กรณีที่สอง หากสัญญาจะซื้อจะขายกำหนดไว้ทำนองว่า “…หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ให้ผู้จะขายมีสิทธิริบเงินดาวน์…” กรณีดังกล่าว ย่อมทำให้เงินในส่วนนี้กลายเป็น “เบี้ยปรับ” โครงการมีสิทธิริบได้หากผู้จะซื้อผิดสัญญา แต่หากสูงเกินส่วนศาลก็สามารถปรับลดได้ กรณีเช่นนี้ สามารถฟ้องเรียกคืนเงินดาวน์ได้ ส่วนจะได้เต็มจำนวนหรือได้บางส่วน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

         3) ใครก็ตามที่ถูกพวก Development  หลอกให้เข้ามาลงทุน โดนหลอกให้ลงทุนซื้อยกชั้น ฟ้องเรียกเงินคืนได้

         4) ถ้าสัญญาระบุว่ายึดเงินได้ ริบเงินที่ชำระมาทั้งหมด ไม่ต้องใส่ใจ ฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!