โทษปรับสามารถรอลงอาญาได้หรือไม่ ?
Published by lawyer_admin on
โทษปรับสามารถรอลงอาญาได้หรือไม่ ?
โทษปรับสามารถรอลงอาญาได้หรือไม่ ?
#คำตอบคือ ได้ครับ
เดิมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กำหนดว่า “ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี….ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป….”
ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2559 ได้การประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 7 กำหนดว่า ให้ยกเลิกข้อความกฎหมายเดิมในมาตรา 56
และให้ใช้ข้อความกฎหมายในมาตรา 56 ใหม่ ดังนี้ “มาตรา 56 ผู้ใดกระทําความผิดซึ่งมีโทษจําคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจําคุก ไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ……ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษ หรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง…..”
ดังนั้น ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ หากศาลพิพากษาลงโทษปรับ ศาลก็สามารถพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญาสำหรับโทษปรับนั้นได้ ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ ศาลฎีกาก็เคยนำมาประกอบการพิจารณาคดีแล้ว โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษปรับแก่จำเลย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับจำเลยที่ศาลให้โอกาสไม่ต้องไปจ่ายค่าปรับจริง ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2560
ท้ายที่สุด กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชน เพราะเป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าสมควรที่จะลงโทษให้บุคคลนั้น ๆ ไปจ่ายค่าปรับจริง ๆ หรือไม่ หรือไม่ต้องไปจ่ายค่าปรับจริงๆ โดยให้รอการกำหนดโทษหรือรอลงอาญาค่าปรับไว้ก่อน
หมายเหตุ :
คำว่า “รอการลงโทษ” คือ ภาษาทางกฎหมาย ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “รอลงอาญา”
#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
แชร์หน้านี้ !!