ตกลงให้ดอกเบี้ยเกิน15%ต่อปี คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ตกเป็นโมฆะจริงหรือไม่ ?
Published by lawyer_admin on
ตกลงให้ดอกเบี้ยเกิน15%ต่อปี คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ตกเป็นโมฆะจริงหรือไม่ ?
ตกลงให้ดอกเบี้ยเกิน15%ต่อปี ฝ่าฝืนมาตรา654 ตกเป็นโมฆะจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ7.5ต่อปีดอกเบี้ยที่ได้ชำระแล้วเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามม.407ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระแล้วมาหักกลบกับต้นเงิน(#ฎ.745/65)
#ข้อสังเกต
ระหว่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/60 (ป) กับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565
#คำพิพากษาศาลฎีกาที่5376/60 (ป) ข้อเท็จจริงเป็นกรณีประชาชนกู้ยืมเงินกันเองใช้ป.พ.พ. มาตรา 411 โดยวินิจฉัยว่าจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ “ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่
โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน
#แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 เป็นกรณีการออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
#สังเกตข้อตกลงที่ว่า “ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง”
#ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/60 (ป) ไม่ได้กลับหลักแต่อย่างใดเพราะข้อเท็จจริงต่างกัน
##สรุปหลักเรื่องชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่เป็นโมฆะจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน
- ประชาชนกู้เงินกันเอง
- ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่เป็นโมฆะใช้ป.พ.พ. มาตรา 411
- เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย
#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
แชร์หน้านี้ !!