บิดาฝากเงินกับธนาคารใช้ชื่อเด็กเป็นเจ้าของบัญชี โดยเจตนายกเงินให้เด็ก
Published by lawyer_admin on
บิดาฝากเงินกับธนาคารใช้ชื่อเด็กเป็นเจ้าของบัญชี โดยเจตนายกเงินให้เด็ก
“#ยกให้ลูก”
บิดาฝากเงินกับธนาคารใช้ชื่อเด็กเป็นเจ้าของบัญชี โดยเจตนายกเงินให้เด็ก เงินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเด็กทันทีที่ธนาคารรับเข้าบัญชี ข้อตกลงกับธนาคารว่าบิดาเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินได้ เมื่อบิดตาย ธนาคารจ่ายเงินแก่กองมรดกซึ่งขอถอนเงินเป็นการชอบแล้ว ผู้จัดการมรดกรับเงินมาต้องมอบแก่เด็กตามหน้าที่เช่นเดียวกับบิดา เด็กติดตามเอาเงินคืนได้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถอนเงิน (#คำพิพากษาฎีกา ๒๔๔/๒๕๒๒)
#หมายเหตุ ๑. การที่บิดาฝากเงินในบัญชีของธนาคารที่ระบุให้เด็กเป็นเจ้าของบัญชีโดยมีเงื่อนไขว่า บิดาสามารถถอนเงินได้นั้น แสดงให้เห็นว่า บิดาฝากเงินโดยมีเจตนายกเงินให้บุตร เมื่อบิดาฝากเงินเข้าบัญชี เงินตกเป็นของเด็กทันทีที่ธนาคารรับฝากเงินเข้าบัญชี โดยการให้ย่อมสมบรูณ์นับแต่เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๒๓ เพียงแต่แทนที่จะมอบเงินให้กับบุตรโดยตรง แต่มอบเงินให้บุตรโดยผ่านทางธนาคารโดยการฝากเงินที่จะให้บุตรเข้าบัญชีเด็กผ่านทางธนาคารเพื่อมิให้เงินเกิดสูญหายและทำให้เงินเพิ่มพูนขึ้นเพราะมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น
๒.การที่บิดาเปิดบัญชีให้บุตร โดยระบุชื่อบุตรไว้ในบัญชีธนาคารโดยตกลงว่าบิดาเป็นผู้ถอนเงินได้นั้น บุตรไม่สามารถถอนเงินเองได้เพราะเงื่อนไขในการถอนเงินนั้นผู้ที่สามารถถอนเงินได้คือบิดาเท่านั้น ไม่รวมถึงบุตรด้วย เมื่อบิดาฝากเงินให้บุตร เงินตกเป็นของเด็กทันที การที่บิดาไปถอนเงินก็เพื่อที่จะนำมามอบแก่เด็กมิใช่ถอนมาเพื่อบิดานำมาใช้แต่อย่างใดไม่ กรณีที่เด็กมีเงินได้ ให้นำเงินดังกล่าวเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่บุตร หากผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีเงินเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใช้อำนาจปกครองอาจใช้เงินนั้นตามสมควรก็ได้ เว้นแต่เป็นเงินที่ได้จากการให้โดยเสน่หาหรือพินัยกรรมที่มีเงื่อนไขห้ามผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นๆตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๗๓ และเงินของบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวบิดาหาอาจนำไปหาประโยชน์ด้วยการนำไปให้คนอื่น “กู้ยืม” หรือนำไป “ให้” บุคคลอื่นหรือนำไป “แสวงหาประโยชน์” ในกรณีอื่นหาได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๕๗๔(๗)(๘)(๑๑)
๓.เมื่อเงินตกเป็นของเด็กทันที่ที่ธนาคารรับฝากเงินจำนวนดังกล่าวเงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท ถือเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินที่ได้จำหน่ายจ่ายโอนไปแล้วย่อมไม่มีอยู่ที่จะเป็นทรัพย์มรดกได้ ทั้งการฝากเงินให้บุตรเมื่อมีการส่งมอบเงินฝากให้กับธนาคาร การให้ย่อมสมบรูณ์ แม้เด็กจะประพฤติเนรคุณหรือไม่ก็ตามก็ไม่สามารถถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้ เพราะเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาที่บิดาพึงมีต่อบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๔ บิดาหาอาจถอนคืนการให้ได้แม้บุตรจะประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อบิดาผู้ให้เป็นความผิดทางอาญาอย่างร่ายแรง หรือทำให้บิดาผู้ให้ต้องเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง หรือบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตบิดาผู้ให้ เมื่อผู้ให้ยากไร้และบุตรผู้ให้สามารถให้ได้ก็ตาม เพราะเมื่อเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาแล้วบิดาผู้ให้จะเรียกคืนทรัพย์ที่ให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๓๕(๓) เมื่อบิดาจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนให้แก่บุตรก่อนที่ตนจะถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่จำหน่ายจ่ายโอนไปแล้วย่อมไม่มีอยู่ที่จะเป็นมรดกได้ การที่มีข้อตกลงว่าบิดาสามารถถอนเงินได้ ต่อมาเมื่อบิดาถึงแก่ความตาย การที่ผู้จัดการมรดกถอนเงินแล้วธนาคารยอมให้เบิกถอนเงินได้ถือเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการถอนเงิน แต่เมื่อผู้จัดการมรดกถอนเงินไปแล้วต้องนำมาส่งมอบให้เด็กเช่นเดียวกับการที่บิดาถอนเงินมาแล้วนำมามอบแก่บุตร มิใช่ถอนเงินแล้วนำมารวมเป็นกองมรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทแต่อย่างใดไม่ ผู้จัดการมรดกเมื่อถอนเงินมาแล้วต้องนำมามอบให้เด็ก หากไม่มอบให้เด็กถือเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้เด็กได้รับความเสียหายในสิทธิ์ที่จะได้รับเงินในบัญชีเงินฝาก ถือว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกเป็นการกระทำละเมิดต่อเด็กแล้ว เมื่อเป็นการกระทำละเมิดในวันที่ถอนเงินจากธนาคารแล้วไม่ยอมมอบให้เด็ก เมื่อเป็นการกระทำละเมิดถือผู้จัดการมรดกผิดนัดนับแต่วันทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๖โดยเมื่อเป็นกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติอันแจ้งชัด จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗
ดังนั้น เด็กสามารถติดตามเอาคืนได้พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ถอนเงิน
๔.เมื่อบิดาฝากเงินให้บุตรและธนาคารรับฝากเงินแล้วเงินตกเป็นสิทธิ์ของบุตรหากต่อมาบุตรถึงแก่ความตายก่อนบิดา เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทของเด็ก
#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
#สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, #กฎหมาย, #นำชัยพรมทา, #บทความกฎหมาย, #คลังความรู้กฎหมาย, #ปรึกษากฎหมายฟรี, #ปรึกษาด้านกฎหมาย, #จ้างทนายความ #กฎหมายบริษัท #กฎหมายกรรมการบริษัท
แชร์หน้านี้ !!