ใช้คำพูดหยาบคาย เหยียดเชื้อชาติ กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ผิดหรือไม่

Published by lawyer_admin on

คำถาม : ใช้คำพูดหยาบคาย เหยียดเชื้อชาติ กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ผิดหรือไม่ ?

เรื่อง นายจ้างประกอบธุรกิจจัดหางานซึ่งลักษณะงานต้องเกี่ยวพันกับบุคคลหลายเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว การที่ลูกจ้างตำแหน่งรองผู้อำนวยการได้ใช้คำพูดเรียกเพื่อนร่วมงานว่า “กะ*รี่ ผิวสีดำ ทำงานอยู่ซอยคาวบอย” จนเพื่อนร่วมงานร้องเรียนไปถึงบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษ การกระทำของลูกจ้างถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 , ค่าคอมมิชชั่นรายไตรมาส เป็นเงินจูงใจ ไม่ใช่ค่าจ้าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการสำนักงานจัดหางานและตัวแทนจัดหางาน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ขณะเลิกจ้างโจทก์มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ค่าคอมมิชชั่นร้อยละ 10 ของกำไรก่อนหักภาษี และเงินอื่น ๆ ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จำเลยทั้งสองพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนพฤติกรรมของโจทก์ และต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2562 จำเลยทั้งสองมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ข้ามขั้นตอน ขัดระเบียบข้อบังคับ ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม ให้ชำระค่าเสียหายที่กระทำละเมิดพร้อมดอกเบี้ย และออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกร้องเรียนจากเพื่อนร่วมงานเป็นจำนวนมาก ว่าโจทก์ใช้คำพูดที่เป็นการคุกคามทางเพศ หรือเหยียดสีผิวเพื่อนร่วมงานว่า “กะ*รี่ ผิวสีดำ ทำงานอยู่ซอยคาวบอย” จนเพื่อนร่วมงานของโจทก์ต้องเข้ารักษาตัวกับจิตแพทย์ การสอบสวนเป็นไปอย่างถูกต้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของโจทก์ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่การที่โจทก์ใช้คำพูดล้อเลียนเพื่อนร่วมงานเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ประเด็นความผิดร้ายแรงหรือไม่

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นว่า โจทก์ยอมรับว่าใช้คำพูดเรียกเพื่อนร่วมงานว่า “กะ*รี่ ผิวสีดำ ทำงานอยู่ซอยคาวบอย” ซึ่งจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับฯ กำหนดว่า การเหยียดสีผิว เชื้อชาติ เพศ เป็นความผิดร้ายแรง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการพูดล้อเล่นเท่านั้น การที่จะพิเคราะห์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับฯ จำต้องพิจารณาถึงลักษณะงานและบุคคลที่ได้รับฟังคำพูดโจทก์ เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจัดหางาน ลักษณะงานดังกล่าวต้องเกี่ยวพันกับบุคคลหลายเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรงก็เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชื่อเสียง เพื่อให้เห็นว่าการจัดหางานของจำเลยที่ 1 มีความเสมอภาค เมื่อปรากฏว่า นางสาว เอ ที่ได้รับฟังคำพูดโจทก์ไม่ได้รู้สึกเป็นการพูดล้อเล่น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีการร้องเรียนไปถึงบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษ และมีการสอบสวนตามขั้นตอน

ดังนั้น คำพูดลักษณะดังกล่าวจึงเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมประเด็นค่าคอมมิสชันรายไตรมาสและค่าหุ้นเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ค่าคอมมิสชันรายไตรมาสที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์โดยมีเงื่อนไข 2 ประการคือ กำไรของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในแต่ละไตรมาส ส่วนเงินค่าหุ้น โจทก์ได้รับครั้งเดียว เงินดังกล่าวจึงเป็นเพียงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่โจทก์เพื่อจูงใจในการทำงานเท่านั้น เงินทั้งสองรายการดังกล่าว จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พิพากษาแก้เป็น ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าชดเชย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง


Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148

แชร์หน้านี้ !!