อ้างอาการป่วย “โรคซึมเศร้า” เป็นเหตุยกเว้นโทษทางอาญาได้หรือไม่ ?
โรคซึมเศร้านั้น สามารถอธิบายง่าย ๆ “ซึมเศร้า” อารมณ์มันจะเศร้า มีอารมณ์ทางลบเกิดขึ้นพอมีอารมณ์ทางลบมันก็จะไม่ค่อยมีความสุข พอไม่มีความสุขมันก็ส่งผลหลายอย่าง เช่น เริ่มไม่ค่อยสนใจสิ่งรอบตัว สิ่งไหนที่เขาเคยมีความสุขกับมัน ก็จะเริ่มไม่ค่อยมีความสุขกับมันแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีเรื่องอื่นตามมา เช่น ความวิตกกังวลที่มากเกินไป ทำให้ขาดสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ท้ายสุดก็จะเริ่มไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากอยู่กับใคร รู้สึกว่าตัวเองแย่ อยู่ในอารมณ์ที่ไม่อยากคุยกับใคร พอถอยห่างจากคนอื่นไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีอาการที่ว่าตัวเองไร้ค่า พัฒนาไปสู่ความสิ้นหวัง นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ หรือการทำร้ายร่างกายตนเองหรือก่อเหตุร้ายต่อผู้อื่น ซึ่งจากการกระทำความผิดทางอาญาในหลายกรณีมักจะมีการอ้างเหตุผลว่าตนมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพื่อเป็นเหตุให้ตนเองได้รับการยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
จึงมีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า อาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะสามารถอ้างเป็นเหตุยกเว้นโทษทางอาญาได้หรือไม่เพียงใด โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2544 (ย่อสั้น) “จำเลยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าจนมีความกร้าวร้าวสะสมมากขึ้น เมื่อพบโจทก์ร่วมกำลังขับเรือเร่ขายสินค้าเช่นเดียวกับจำเลยจึงกระตุ้นจิตใจให้มีความกร้าวร้าวยิ่งขึ้นจนทำร้ายโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง แต่จำเลยยังขับเรือหลบหนีกลับบ้านได้ แสดงว่าสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้างต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง” ได้วางบรรทัดฐานการวินิจฉัยไว้เป็น 2 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่1 ในคดีนี้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายกำลังขับเรือออกไปค้าขายตามปกติส่วนจำเลยก็ขับเรือไปค้าขายเช่นเดียวกับผู้เสียหายแต่เมื่อจำเลยขับเรือไปทันเรือผู้เสียหายจำเลยเทียบเรือผู้เสียหายแล้วกระโดดขึ้นเรือของผู้เสียหายและได้ใช้มีดดาบยาวฟันที่ศีรษะและลำคอของผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยหยิบขวดขว้างใส่ผู้เสียหายแล้วกลับขึ้นเรือของตนขับออกไป เมื่อพิจารณาจากบาดแผลที่ศีรษะของผู้เสียหาย ประมาณ ๑๐ แผลและศีรษะด้านหน้าขวาและซ้ายแตกกดยุบลงศีรษะด้านข้างและท้ายทอยซ้ายแตกมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกด้านข้างซ้ายและในขณะที่แพทย์รับตัวผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายช็อกเนื่องจากเสียเลือดมากหากไม่ได้รักษาทันท่วงทีผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตาย เช่นนี้แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายเต็มแรงอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายเป็นมีดฟันหญ้ามีขนาดใหญ่จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายจริง
ประเด็นที่2 ที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ จำเลยกระทำไปโดยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับ ตนเองได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาจึงเห็นว่าการที่จำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานประมาณ ๖ เดือนก่อนเกิดเหตุจนทำให้เกิดความเครียดในการประกอบอาชีพจำเลยไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ก่อนเกิดเหตุเพียง ๒ วัน สาเหตุหนึ่งที่จำเลยปรึกษากับแพทย์คือการมีคู่แข่งทางการค้าทางเรือจนทำให้จำเลยคิดทำร้ายคู่แข่งซึ่งก็คือผู้เสียหายการที่จำเลยเครียดและไปพบแพทย์ด้วยปัญหาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีความผิดปกติทางจิตใจเป็นอันมากและอาจรู้สึกตัวว่าในบางขณะ จำเลยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อมีเหตุกระตุ้น การที่จำเลยไม่มีเรื่องโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนลำพังแต่เพียงการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกันโดยเร่ขายทางเรือและไม่ปรากฏว่ามีความขัดแย้งหรือแย่งชิงลูกค้ากันจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะเคียดแค้นจนถึงกับต้องทำ ร้ายผู้เสียหาย
โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ประกอบมาตรา ๖๕ วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลย ๔ ปีคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยบรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าเสียหายเป็นที่พอใจของผู้เสียหาย นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดมีสาเหตุจากอาการป่วยทางจิต จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้๓ ปีให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ๘ ครั้ง ภายในเวลา ๒ ปีตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกับให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลจิตเวชตามที่แพทย์นัดจนกว่าจะหายเป็นปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
คำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าว นับว่าเป็นแนวทางหรือบรรทัดฐานในการพิจารณาข้อยกเว้นโทษทางอาญา กรณีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากระทำผิดอาญาเพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน เมื่อปรากฏ ข้อเท็จจริงว่าภายหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยยังสามารถขับเรือแล่นหลบหนีกลับบ้านได้จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำ ไปโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้างต้องด้วยบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕ วรรคสอง ซึ่งศาลอาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้แต่ในทางกลับกันหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าดังกล่าวได้กระทำผิดอาญาในขณะรู้ผิดชอบก็จะไม่ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรณีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือป่วยทางจิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง แม้จะมีใบรับรองว่าป่วยทางจิตหรือมีพยานหลักฐานยืนยันว่าอยู่ในกระบวนการรักษาอาการป่วยทางจิตก็ตามแต่เมื่อกระทำความผิดอาญาแล้ว การจะอ้างเหตุยกเว้นโทษหรือได้รับโทษที่น้อยลงจึงไม่ใช่เป็นเรื่องกระทำได้ง่ายเพราะจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าความผิดปกติทางจิตนี้ส่งผลต่อความสามารถในการรู้ผิดชอบหรือการควบคุมตนเองมากน้อยหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้การที่,จิตแต่อย่างใดก็อาจจะมีความผิดฐานเบิกความเท็จต่อศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ อีกด้วย
#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148
ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
E-mail : numchailaw.office@gmail.com