บุตรถูกรถชนตาย…บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าตนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่?

#หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1548 วรรคสามบัญยัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
มาตรา 1555 บัญญัติว่า ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร[228]
พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น
ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย
จึงขออธิบายว่า การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องทำเมื่อตอนบุตรมีชีวิตอยู่ หากบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ถือว่าบุตรสิ้นสภาพบุคคลที่จะให้ความยินยอมแล้ว ดังนั้น หากบุตรถึงแก่ความตายแล้ว บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่อาจยื่นคำร้องขอรับรองบุตรได้
#ตัวอย่าง คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5660/2559 วินิจฉัยฉัยว่า บุตรที่เกิดนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภายหลังได้ 3 ประการ คือ เมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547
เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาตามกฎหมายของ พ. และมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
ทั้งการที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ.
กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
>>> มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5661/2559 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน
#ข้อสังเกต เคยคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 2473/2545 วินิจฉัยว่า ด.มารดาของ ช.และ ช. ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับ ช. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่า ช. เป็นบุตรผู้ร้องได้ (ฎีกานี้น่าจะถูกกลับโดยฎีกาที่ 5660/2559 และ 5661/2559)
#หมายเหตุ ท่านไพโรจน์ วายุภาพได้เขียนหมายเหตุท้ายฎีกา 2437/2545 ว่าการยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ตอนท้ายบัญญัติว่าหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิ์ทางศาลซึ่งมิใช่ถือความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิ์ศาลตามความเป็นจริงเท่านั้นแต่จะต้องปรากฏได้ว่ามีกฎหมายบัญญัติให้ใช้สิทธิ์ทั้งศาลในเรื่องนั้นโดยยื่นเป็นคำร้องขอต่อศาลได้ด้วย แต่คดีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ยื่นคำร้องของศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จดทะเบียนรับรับรองผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องโดยขอให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของภรรยาและบุตรผู้ร้องที่ถึงแก่ความตายไปแล้วได้ จึงน่าจะยกคำร้องเสีย
อนึ่ง แต่ในกรณีที่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียชีวิต มารดาหรือบุตรสามารถยื่นคำร้องขอให้รับรองบุตรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555
#ตัวอย่าง คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8504/2544 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท คือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
>>> กรณีบุตรถูกรถยนต์ชนเสียชีวิต บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายจะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผุู้ตายไม่ได้ หากบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายประสงค์ที่จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะและรับเงินจากบริษัทประกันภัยของผู้กระทำละเมิด
ดังนั้น ให้บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายไปจดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตาย เพราะในกรณีที่เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง ซึ่งกฎหมายให้มีผลนับตั้งแต่วันที่เด็กเกิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557
#ตัวอย่าง คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6436/2562 วินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุละเมิด จ. ผู้ตายเป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้านซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ค. มารดาของผู้ตายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ค้านได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตายเป็นผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับมารดาของผู้ตายซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นวันที่ 3 เมษายน 2559 ซึ่งขณะนั้นนั้น จ. มีอายุ 21 ปีและถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและ ค. บิดามารดาของ จ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่ จ. เกิดคือตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 จ. จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานับแต่นั้น










สอบถามค่าบริการได้ทาง
Line@ คลิ๊ก : https://lin.ee/ltTK0H1
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086 331 4759
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148
ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
E-mail : numchailaw.office@gmail.com