เมื่อถูกฟ้องและได้รับหมายศาลต้องทำอย่างไร

Published by law_admin on

เมื่อท่านได้รับหมายจากศาลอันดับแรก ท่านต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเป็นหมายนัด คือ หมายประเภทใด และท่านมีหน้าที่ต้องทำอะไรเมื่อได้รับหมายนั้น เพราะหมายแต่ละประเภทกฎหมายกำหนดให้ท่านมีหน้าที่ต้องกระทำไม่เหมือนกัน และผลมีทางกฎหมายที่ต่างกัน ดังนี้

     1. หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง

     หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง เช่น หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ สำหรับหมายชนิดนี้ จะถูกส่งไปยังผู้รับหมายพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง หากได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จะต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด สำหรับในส่วนหมายเรียกอันเกี่ยวกับคดีแพ่งนั้น แยกออกเป็นดังนี้

          1.1 หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติว่า“เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน” ดังนั้น หากท่านถูกฟ้องเป็นจำเลยหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย  แต่หากท่านไม่ได้เซ็นต์รับหมาย เจ้าหน้าที่ส่งหมายอันเป็นเจ้าพนักงกานของศาลจะทำการปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาของท่าน  ซึ่งจะถือว่าท่านได้รับหมายเรียกเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันปิดหมาย      ( 15 บวก 15 ) ท่านจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ปิดหมายเจ้าพนักงานงานศาลไปปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาของท่านนั้นเอง

หากท่านมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในกำหนด จะหมดสิทธิในการต่อสู้คดี อันมีผลให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยศาลจะตัดสินคดีให้โจทก์ชนะคดีไปฝ่ายเดียว


     2. หมายเรียกคดีมโนสาเร่, หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยาก, หมายเรียกจำเลยในคดีผู้บริโภค

     หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ท่านมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การและมาศาลตามวันนัดที่ได้ระบุไว้ในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน และหากท่านมีความประสงค์จะต่อสู้คดีก็จะต้องให้การแก้คดีภายในวันนัดที่ระบุในหมาย  ซึ่งถือเป็นวันนัดพิจารณาครั้งแรกด้วย หากท่านไม่ไปศาลในวันพิจารณา ศาลอาจถือว่าท่านขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา แล้วแต่กรณี ซึ่งจะมีผลทำให้ท่านเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลจะตัดสินคดีโจทก์ไปผ่ายเดียว และจะมีคำพิพากษาและบังคับคดีต่อไป ดังนั้น หากท่านได้รับหมายศาลดังกล่าวแล้ว ควร จะรีบติดต่อทนายความเพื่อช่วยดูแลคดี และทำคำให้การต่อสู้คดี ให้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไป


     3. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา

เมื่อได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วดูรายละเอียดในหมายว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ หากท่านประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ ก็สามารถเจรจากันได้ซึ่งหากโจทก์ยินยอมตามที่ตกลงกัน และยินยอมถอนฟ้องคดีก็เป็นอันจบไป

ในคดีอาญาที่ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ หากมีมูลศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์

ดังนั้น หากท่านได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และควรรีบนำสำเนาคำฟ้องข้อเท็จจริงในคดี พร้อมพยานหลักฐานปรึกษาทนายความทันที เพื่อให้ทนายความทำการถามค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง หากคดีไม่มีมูลศาลจะยกฟ้อง โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านไม่จำเป็นต้องไปศาล เนื่องจากหากไปศาลในวันดังกล่าว และศาลได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับฟ้อง ท่านจะตกเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัว ซึ่งจะต้องมีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวต่อไป


     4. หมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ

4.1.) เมื่อได้รับหมายเรียกให้ส่งเอกสารหรือวัตถุที่อยู่ในความครอบครองต่อ ศาล ท่านจะต้องจัดเตรียมเอกสารหรือวัตถุตามที่ระบุในหมายเรียกหรือคำสั่งศาล และ ส่งมายังศาลที่ออกหมาย ให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในหมายเรียกนั้น

4.2.) หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งเอกสารหรือวัตถุภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหมายเรียกหรือคำสั่งศาลบ้างให้แจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวเป็นหนังสือต่อศาลก่อนครบกำหนดระยะเวลา และตั้งศูนย์ประสานงานพยานของศาล

4.3.) เมื่อผู้ครอบครองวัตถุ หรือ เอกสารได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งศาลแล้วหากขัดขืนไม่ส่งเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวอาจต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170  ซึ่งหากผู้ครอบครองวัตถุหรือเอกสารได้รับการจูงใจคำมั่นสัญญาหรือขู่เข็ญหรือหลอกลวงหรือการกระทำใดๆในทางที่จะก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น  ให้ส่งเอกสารหรือวัตถุ นั้นต่อศาล  สามารถติดต่อไปยังศูนย์ประสานงานพยานของศาลเพื่อจะประสานและศาลอาจจะแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าวให้กับท่าน

4.4.) หากมีข้อสงสัยหรือมีเหตุขัดข้องท่านสามารถติดต่อไปยังศูนย์ประสานงานพยานก่อนวันนัดของศาลนั้นได้


     5. หมายเรียกพยานบุคลให้เป็นพยาน

5.1). กล่าวคือ ท่านได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยานที่ศาล ดังนั้น ท่านต้องตรวจสอบหมายเรียกให้แน่ชัดว่าต้องเดินทางไปเบิกความที่ศาลใดดดีอะไร วันเวลาใด รวมทั้งตรวจสอบที่ตั้งศาลให้ถูกต้องด้วย

5.2.) เมื่อถึงวันนัดตามหมายนัดให้ท่านมาศาล ตามกำหนดอย่างเคร่งครัด หากท่านไม่สามารถมาศาลตามกำหนดนัดได้ จะต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศูนย์ประสานงานพยานก่อนวันนัดพิจารณา โดยทันที  หากเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วน

5.3.) หากท่านจงใจไม่มาศาลโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร  ศาลอาจออกหมายจับท่านมากักขังจนกว่าจะเบิกความในวันเวลาที่เห็นสมควรได้  โดยเหตุที่ศาลอาจไม่รับฟังเป็นข้ออ้างในการไม่มาศาล เช่น มีความเจ็บป่วยที่ไม่ร้ายแรงมีธุระ หรือติดประชุมหรือติดงานโดยไม่ปรากฏเหตุผลจำเป็น มีราชการซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานว่าเป็นราชการสำคัญ หรือ รอการอนุมัติจากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาให้ไปเบิกความโดยที่ศาลได้มีหมายแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น

5.4.) เมื่อท่านไปถึงศาลแล้วควรติดต่อศูนย์ประสานงานพยานหรือเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาลเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องเบิกความเป็นพยานที่ห้องพิจารณาหมายเลขใด

5.5.) เมื่อท่านมาถึงห้องพิจารณาทางจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ที่อยู่ในห้องพิจารณาและรอคู่ความหรือศาลเรียกเพื่อเบิกความเป็นพยาน

5.6.) ในการเบิกความเป็นพยานนั้นศาลและคู่ความทั้งสองฝ่ายจะถามท่านเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่ทราบมาโดยตัวของท่านเองโดยตรง  คำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีคำถามที่อาจทำให้ท่านหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องได้รับโทษอาญาหรือคำถามที่เป็นการข่มขู่หรือหมิ่นประมาท จะทำไม่ได้หากมีการใช้คำถาม เช่นนั้น ศาลจะเตือนผู้ถามและมีคำสั่งให้ระงับคำถามนั้นเว้นแต่เป็นข้อสาระสำคัญในคดี

5.7.) หากท่านที่เป็นพยานอายุไม่เกิน 18 ปี ศาลจะจัดให้ท่านอยู่ในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กและถามพยานผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

5.8.) หากผู้ที่ได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานมีเหตุอันสมควรประการอื่นทำให้ไม่สามารถมาศาลได้ตามกำหนดนัดพยานอาจขอให้ศาลสืบพยานตัวท่านไว้ก่อนล่วงหน้า  โดยติดต่อไปแล้วศูนย์ประสานงานพยานของศาลนั้น

5.9.) ค่าตอบแทนของพยานที่มาเบิกความมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนี้

ในคดีแพ่งศาลจะกำหนดค่าใช้จ่ายป่วยการพยานตามรายได้และฐานะของพยานที่มาศาลตามหมายเรียก กับค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของพยานไปด้วยตามสมควรซึ่งปัจจุบันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500 บาท

ในคดีอาญาพยานที่เบิกความต่อศาลแล้วมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจำเป็นและสมควรตามระเบียบที่ทำว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ในคดีความผิดต่อส่วนตัวและความผิดต่อแผ่นดินไม่ว่าผู้เสียหายหรือการโจทก์อาจได้รับค่าตอบแทนทั้งนี้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

โดย ทนายสถิตย์  อินตา

083-568-1148

แชร์หน้านี้ !!