ผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้รับเหมาทำผิดสัญญา แต่จะฟ้องก็กลัวไม่คุ้ม จะทำอย่างไรดี ?
ผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้รับเหมาทำผิดสัญญา แต่จะฟ้องก็กลัวไม่คุ้ม จะทำอย่างไรดี…
ปัญหาเรื่องของการฟ้องร้องเป็นคดีความ หรือการที่ต้องมีการขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นปัญหาที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แม้แต่ตัวทนายความผู้เขียนฐานะนักกฎหมายก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลนั้น นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายที่มากแล้ว ยังต้องเสียเวลา และเสียมิตร แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ที่เราไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเองได้ ก็จำเป็นที่จะต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่ออาศัยบารมีศาลเป็นที่พึ่ง
กรณีที่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างหลายท่านต้องประสบปัญหากับการที่ถูกผู้รับเหมาทิ้งงาน เชื่อว่าทุกท่านคงได้พยายามติดตาม ติดต่อ ทวงถามให้ผู้รับเหมากลับมารับผิดชอบงานแต่ไม่เป็นผล หรือ ผู้รับเหมา รู้สึกว่าเจ้าของบ้านบ่ายเบี่ยงเลี่ยงที่จะจ่ายเงินตามสัญญา แต่ติดตามอย่างไรก็ไม่มีวี่แววจะได้…..… ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องฟ้องคดี
ในที่นี้ ในการฟ้องคดีนั้น จะคุ้มค่าหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักของผู้ที่จะฟ้องคดีเอง โดยพิจารณาจากปัจจัยง่ายๆ คือ จำนวนทุนทรัพย์ที่เราจะฟ้องเรียกร้องจากเขา คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องเสียไปในการดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีหลักๆ ก็จะประกอบไปด้วย ค่าธรรมเนียมศาล (โดยหลักในคดีมีทุนทรัพย์จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง), ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอื่นๆ เช่น ค่านำหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และค่าว่าจ้างทนายความในการฟ้องร้องดำเนินคดีให้ ซึ่งค่าทนายความนี้จะมากน้อยเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของรูปคดี และมาตรฐานในการเรียกค่าวิชาชีพของทนายความแต่ละท่านที่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่จะว่าจ้างทนายความต้องตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายกับทนายความเอง
นอกจากปัจจัยในเรื่องทุนทรัพย์แล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องกันที่ไม่อาจละเลยได้ คือ ต้องพิจารณาว่า เมื่อฟ้องคดีไปแล้ว โอกาสที่เราจะชนะคดีมีมากน้อยเพียงใด โดยหลักแล้วมักจะพิจารณาจากรูปคดี พยานหลักฐานที่มีอยู่ เช่น โดยรูปคดีที่เกิดขึ้นได้มีพยานหลักฐานมากน้อยเพียงไหนที่จะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ตามที่เราฟ้อง คดีขาดอายุความหรือยัง หรือ โดยเนื้อหาหรือข้อตกลงในสัญญาเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากน้อยเพียงไหน ฯลฯ เหล่านี้ สามารถปรึกษากับทนายความและหารือถึงทิศทางที่ควรจะดำเนินการต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีเกิดขึ้นหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ผู้ว่าจ้าง หรือคู่สัญญาไม่ควรละเลย ก็คือการตกลงกันกับผู้รับเหมาให้ชัดเจนและควรบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียด เพื่อเป็นหลักฐานแห่งการสื่อสารที่ตรงกัน และอาจนำมาใช้อ้างอิงเมื่อเกิดปัญหาในภายภาคหน้า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การตรวจสอบประวัติหรือคุณสมบัติของผู้รับเหมาก่อนตกลงว่าจ้างให้ทำงาน เพราะสุดท้ายแล้ว หากผู้รับเหมาดังกล่าวเป็นบุคคลผู้มีพฤติกรรมไม่ดีมาอยู่ก่อนแล้ว แม้จะถูกดำเนินคดี ก็อาจเป็นการยากที่จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของเขา หากไม่ปรากฏว่าเขาไม่มีทรัพย์สินใดที่พอจะชำระหนี้เราได้เลย
ดังนั้น ก่อนที่เราจะฟ้องร้องก็ควรมีการพิจารณาให้รอบคอบถึงเรื่องของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ว่าใครถูกใครผิดอย่างเป็นธรรมเสียก่อน บางทีปัญหามันเกิดจากความเข้าใจผิดกัน ระหว่างผู้ว่าจ้างและ ผู้รับเหมา ซึ่งสามารถที่จะพูดคุยรอมชอมกันได้ เพราะหากว่าต้องฟ้องร้องกันจริงๆ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อในเรื่องของความคุ้มค่า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ว่ามันมีความคุ้มค่าแค่ไหนกับจำนวนทุนทรัพย์ของเหตุที่เกิดขึ้นนั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการหา ทนายความ ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญพอในการว่าความแทนเราในการดำเนินคดี นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของเวลาที่ต้องใช้ไปในการฟ้องร้อง รวมถึงมองไปในแง่ของโอกาสในการชนะคดีที่ต้องดูที่น้ำหนักหลักฐาน สุดท้ายก็ยังต้องดูด้วยว่าหากเราชนะฝ่ายตรงข้ามมีความสามารถมากน้อยแค่ไหนในการชดใช้หรือชดเชยคืนให้กับเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนดำเนินการ ซึ่งก็อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละคนที่จะตัดสินใจ………..
สถิตย์ อินตา ทนายความ
โทร. 083-568-1148