บริษัทจะถือหุ้นของตนเองไม่ได้

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

บริษัทจะถือหุ้นของตนเองไม่ได้

วันก่อนเราได้พูดคุยกันถึงเรื่องการลดทุนของบริษัท ซึ่งตามกฎหมายกำหนดวิธีการและขั้นตอนการลดทุนเอาไว้ และ เหตุที่กฎหมายต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเรื่องการลดทุน ก็เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากเอาเปรียบเสียงข้างน้อย หรือ เอาเปรียบเจ้าหนี้ เพราะเมื่อลดทุนแล้วทำให้สัดส่วนการคือครองหุ้นลดลง และ ทำให้สินทรัพย์ของบริษัท หรือ ทุนของบริษัทลดน้อยลงไป แต่มีการลดทุนอีกวิธีหนึ่งเป็นการลดทุนโดยทางอ้อม ซึ่งกฎหมายก็ห้ามเอาไว้เหมือนกันนั่นก็คือ กฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทรับซื้อหุ้นของตนเอง ถ้ากฎหมายไม่ห้ามไว้ ก็จะเปิดโอกาสให้บริษัทลดทุนโดยทางอ้อม เพราะถ้าบริษัทซื้อหุ้นของตนเองก็เท่ากับเอาเงินซึ่งก็เป็นสินทรัพย์ของตนเองมาซื้อหุ้นของตนเอง แม้จะไม่ทำให้ทุนลดลง แต่ก็จะทำให้บริษัทต้องเอาเงินของบริษัทมาจ่ายค่าหุ้น ซึ่งตามกฎหมาย ทำไม่ได้  กฎหมายกำหนดว่าบริษัทจะถือหุ้นหรือรับจำนำหุ้นของตนเองไม่ได้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมดังนี้

  • กรณีถือหุ้นของตนเองโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1143 กำหนดว่า “ห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเองหรือรับจำนำหุ้นของตนเอง”
  • กรณีถือเป็นการที่บริษัทถือหุ้นของตนเองโดยอ้อม เช่น กรรมการของบริษัทโอนหุ้นของตนให้กับบุคคลภายนอก เพื่อให้บุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการของบริษัท แต่กรรมการได้เอาเงินของบริษัทมาจ่ายค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่ตนเอง  กรณีนี้ถือว่ากระทำไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการนำเงินของบริษัทมาจ่ายค่าหุ้น ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2482

จะเห็นว่ากฎหมายห้ามบริษัทถือหุ้นของตนเอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมนะครับ เพราะกฎหมายมีเจตนาที่จะไม่ให้บริษัทถือหุ้นของตนเองเพราะเอาเปรียบผู้ถือหุ้น เอาเปรียบเจ้าหนี้ เอาเปรียบคู่ค้าของบริษัท

โดยทนายนำชัย พรมทา

086-331-4759

แชร์หน้านี้ !!