ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยก็ประชุมเลิกบริษัทได้

Published by law_admin on

ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยก็ประชุมเลิกบริษัทได้

ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยก็ประชุมเลิกบริษัทได้

 

ท่านทั้งหลายคลทราบดีว่าในบริษัทจำกัดแต่ละแห่งนั้น ย่อมมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คนตามกฎหมาย บางบริษัทอาจมีมากกว่านั้น ยิ่งถ้าหากว่าเป็นการร่วมทุนโดยกลุ่มผู้ร่วมลงทุนหลายฝ่าย ยิ่งจะมีมากขึ้น และมีปัญหาตามมามากมายหลายอย่าง ผู้ที่เข้าใจกฎกติกา เข้าใจกฎหมายว่าด้วยเรื่องห้างหุ้นส่วนบริษัทดีกว่าย่อมได้เปรียบไม่ว่าจะในแง่ของการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาต่างๆเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นก็ดี สิทธิและหน้าที่ของกรรมการก็ดี มีความสำคัญมากๆ เพราะหากผู้ใดกระทำผิดหน้าที่ ทำผิดกฎกติกา กฎหมายย่อมไม่คุ้มครอง หรือบางกรณีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษถึงขั้นติดคุกเลยทีเดียว ความเสี่ยงทางกฎหมาย ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจ หากผู้ประกอบธุรกิจคนใดมองข้ามความเสี่ยงทางกฎหมายแล้วล่ะก็ กิจการก็อาจเจ๊งได้โดยไม่ยากนัก  วันนี้สำนักงานฯ ขอนำหลักกฎหมาย หรือกฎกติกา เรื่องการเลิกบริษัทโดยผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยมาเล่าสู่กันฟังครับ 

หลายท่านอาจสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยจะประชุมกันเพื่อเลิกบริษัทได้ เพราะการเลิกบริษัทนั้นต้องกระทำโดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 (4) และมติพิเศษนั้นต้องได้คะแนนเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่มาประชุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1194  แต่ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยจะประชุมกันเพื่อเลิกบริษัทได้นั้น มีกฎหมายเปิดช่องไว้ให้ ดังนี้ครับ

  • กรรมการบริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในเวลาใดๆก็ได้ มาตรา 1172 หรือผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ( 20% ) ร่วมกันร้องขอให้กรรมการบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1173  ซึ่งเมื่อผู้ถือหุ้นรวมกันดังกล่าวร้องขอให้กรรมการเรียกประชุม กรรมการต้องเรียกประชุมโดยพลัน (โดยเร็ว ) มาตรา 1174
  • ถ้ากรรมการไม่เรียกประชุมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวข้างต้นร้องขอ ให้ผู้ถือหุ้นตามจำนวนดังกล่าว ( ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ดังกล่าวข้างต้น) นัดเรียกประชุมได้เอง ตามมาตรา 1174 วรรคสอง
  • การบอกกล่าวเรียกประชุมให้กระทำตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1175 คือ ส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน และ ประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน หากเป็นการประชุมเพื่อลงมติพิเศษ ให้บอกกล่าวล่วงหน้า และ ประกาศหนังสือพิมพ์แจ้งการประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน
  • ในวันประชุมถ้ามีผู้เข้าร่วมประชุมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ( 25% ) ของทุนจดทะเบียน ก็ถือว่าครบองค์ประชุม มาตรา 1178
  • และท้ายสุด ถ้าผู้ถือหุ้นที่มาประชุมตาม 4) ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ร้อยละร้อย ให้เลิกบริษัท ย่อมถือว่าผ่านมติพิเศษเพื่อเลิกบริษัทได้ ตามมาตรา 1194 เพราะถือว่าได้คะแนนเกินกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมนั้น

อย่าว่าแต่เลิกบริษัทเลยครับท่าน ถ้าได้กระทำตามขั้นตอนดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วนั้น จะลงมติใดๆก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท ปลดกรรมการ ตั้งกรรมการใหม่ และ อีกมากมายหลายอย่าง ฯลฯ  ดังนั้นแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาทนะครับ

 

ทนายนำชัย  พรมทา

โทร. 086-331-4759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!