หนังสือรับสภาพความผิด ถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่

Published by law_admin on

หนังสือรับสภาพความผิด ถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่

หนังสือรับสภาพความผิด ถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่?

 

โบราณท่านว่า เจ้านายดีๆ ก็เหมือนผี หลายคนเชื่อว่ามีแต่น้อยคนนักที่ได้เจอ ในฝั่งเจ้านายก็อยากกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ในวันนี้ผู้เขียนจะเอาเรื่องจริงของลูกความผู้เขียนเองมาเล่าสู่ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ฟังกัน เรื่องมีอยู่ว่า “…. เฮียนิรุจหนุ่มใหญ่ใจดี มีลูกน้องสาวแสนสวยนามว่าพัชราภา มีหน้าที่ทำบัญชีและรับจ่ายเงินของบริษัท แต่อยู่ๆเฮียนิรุจก็แปลกใจสงสัยว่าบริษัทยอดขายก็ดี แต่ทำไมกำไรไม่เหลือ จึงทำการตรวจสอบบัญชีปรากฏว่า        พัชราภาแสนสวยได้แอบยักยอกเอาเงินของบริษัทไป จึงได้เรียกพัชราภามาพูดคุยจึงได้รับทราบว่าพัชราภานั้นเอาเงินไปจริง พัชราภากลัวติดคุกจึงทำหนังสือรับสภาพความผิดฝ่ายเดียวไว้ให้แก่เฮียนิรุจว่าตนจะหาเงินผ่อนชำระคืนเงินที่ยักยอกไปกลับคืนให้บริษัท แต่ปรากฏว่าหลังจากที่พัชราภาได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดไว้แล้ว ก็ได้เก็บข้าวของหนีไป แบบนี้เฮียนิรุจจะดำเนินการอย่างไรดี และหนังสือรับสภาพความผิดนั้น ถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ …” เดียวผู้เขียนจะเล่าให้ฟังครับ !!!!

สัญญาประนีประนอมยอมความ คือ สัญญาที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เช่น นายจนเป็นหนี้นายรวยอยู่ 10 ล้านบาท ถึงกำหนดชำระเงินคืน นายจนยังไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ทั้งคู่จึงเจรจาตกลงกัน นายรวยสงสารจึงยอมให้นายจนผ่อนชำระเดือนละ 1 ล้านบาทเป็นเวลา 10 เดือน ทั้งสองจึงทำสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นหลักฐาน สัญญานี้ทางกฎหมายเรียกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ

ส่วนการแปลงหนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้  เช่น ทรัพย์ที่ใช้ชำระหนี้ ซึ่งจะมีผลทำให้หนี้เดิมระงับไป และมาผูกพันตามหนี้ใหม่แทน

จากตัวอย่างเดิมที่นายจนเป็นหนี้นายรวยอยู่ 10 ล้านบาท แต่นายจนไม่มีเงินใช้หนี้ จึงเสนอรถยนต์แสนรักมาใช้หนี้แทน ปรากฎว่านายรวยตกลง กรณีนี้ถือว่าหนี้เงินที่นายจนยืมนายรวย 10 ล้านบาทไปนั้นได้ระงับไปแล้ว โดยทั้งสองจะต้องผูกพันตามมูลหนี้ใหม่ คือ นายจนต้องนำรถยนต์แสนรักนี้ไปมอบให้นายรวยเพื่อชําระหนี้แทนการใช้เงินนั่นเอง

ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ กรณีที่ความเป็นหนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระทำความผิดของตัวลูกหนี้เอง(กรณีนี้ คือ การยักยอกเงินบริษัทฯ) และลูกหนี้ตกลงชดใช้หนี้ให้ด้วยการทำหนังสือรับยอมรับสภาพหนี้หรือหนังสือรับสภาพผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีแบบนี้จะถือว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือการแปลงหนี้ไม่ได้  (*สำคัญ)

เอาละครับ…กลับมาที่เรื่องของเฮียนิรุจกัน ท่านผู้อ่านคิดว่าหนังสือรับสภาพความผิดที่พัชราภาทำไว้จะถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่?

งั้นเรามาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 6271/2558 ไปพร้อมกันเลยครับ “…. หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไป

                ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหนังสือรับสภาพความผิดที่พัชราภาทำให้แก่เฮียนิรุจ ไม่ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเช่นกัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

                ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น

                ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

                มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นสัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

               

            หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ช่วยกดแชร์ส่งต่อเป็นกำลังใจให้สำนักงานฯ และผู้เขียนด้วยนะครับ+++

 

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!