สัญญากู้เงินไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

สัญญากู้เงินไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา

คำถาม สัญญากู้เงินไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในสัญญาโดยพลการ แล้วนำมาฟ้องต่อศาลเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่ ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266

          (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

          (2) พินัยกรรม

          (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้

          (4) ตั๋วเงิน หรือ

          (5) บัตรเงินฝาก

          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

คำตอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2505

คำพิพากษาย่อสั้น : ทำสัญญากู้เงินกันไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในท้ายสัญญาโดยผู้กู้มิได้รู้เห็นด้วย แล้วผู้ให้กู้นำสัญญานั้นมาฟ้องต่อศาลดั่งนี้ ผู้ให้กู้หามีผิดฐานปลอมเอกสารไม่

คำพิพากษาย่อยาว : โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงิน 80,000 บาทให้ไว้กับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้บังอาจสมคบกันปลอมหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 2 เซ็นนามเป็นพยาน เป็นการกระทำเพิ่มเติมขึ้นภายหลังจากการกระทำสัญญากู้เงินกันแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสาร และได้นำข้อความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาเบิกความเป็นพยานในศาลและใช้เอกสารปลอมเป็นพยาน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266, 268 และ 177

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน คดีนี้ โจทก์รับอยู่ว่า โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นในภายหลัง ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา

พิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์

รวบรวม

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!