สัญญากู้เงิน ไม่ได้ระบุเวลาให้คืนเงิน

Published by law_admin on

สัญญากู้เงิน ไม่ได้ระบุเวลาให้คืนเงิน ถ้าผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้คืนเงินต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

สัญญากู้เงิน ไม่ได้ระบุเวลาให้คืนเงิน ถ้าผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้คืนเงินต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

วันนี้สำนักงานฯ เราได้คำปรึกษาจากลูกความรายหนึ่งว่า ได้ให้เพื่อนสนิทยืมเงินไปจำนวน 1 ล้านบาท โดยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินแก่กันไว้ แต่ด้วยความเป็นเพื่อสนิท ทำให้ได้ได้ระบุว่าจะคืนเงินแก่กันเมื่อไร และถ้าต้องการจะเรียกให้ผู้กู้คืนเงินจะต้องออกหนังสือแจ้งเตือน หรือทวงถามก่อนหรือไม่?

          คำตอบ คือ ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกให้ผู้กู้คืนเงินให้ได้เลย

          ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2535 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 2 ครั้ง เป็นเงินรวม170,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 297,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 170,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่เคยทวงถาม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้อง จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ได้ความตามคำฟ้องว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองครั้งตามสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ ดังนั้น โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652 ก่อนก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้องหรือไม่ จึงชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อ 2.1 ว่า จำเลยขอถือเอาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดที่จำเลยได้หยิบยกเอามาบรรยายไว้ในฎีกาในเบื้องต้นเป็นฎีกาของจำเลยส่วนหนึ่ง ก็ปรากฏตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยเพียงว่าจำเลยได้ยกเอาข้อความที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมากล่าวว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไร ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอย่างไร แต่จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหนอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

 

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!