ถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 90 ยังไม่อาจผ่านมติที่ประชุมได้ เป็นไปได้อย่างไรกัน

Published by law_admin on

ถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 90 ยังไม่อาจผ่านมติที่ประชุมได้ เป็นไปได้อย่างไรกัน
ถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 90 ยังไม่อาจผ่านมติที่ประชุมได้ เป็นไปได้อย่างไรกัน

ถือหุ้นในบริษัทถึงร้อยละ 90 ยังไม่อาจผ่านมติที่ประชุมได้ เป็นไปได้อย่างไรกัน ?

         ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ถึงร้อยละ 90 ยังผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้ เรื่องแบบนี้เป็นไปได้จริงหรือ หลายท่านได้ฟังคงจะอดหัวเราะไม่ได้ เพราะคิดว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ที่ถือหุ้นมากขนาดนั้นแล้วจะไม่สามารถผ่านมติอะไรได้เลยในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เรื่องแปลกแต่จริงเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วครับ มีลูกค้าของผู้เขียนรายหนึ่ง นำเรื่องมาปรึกษา ขอให้ นามสมมุติแกว่า “เฮียนิรุจ”  เรื่องมีอยู่ว่า “…เฮียนิรุจ กับเพื่อนร่วมกันเปิดบริษัท เกี่ยวกับน้ำมันปาล์ม กิจการ ก็ไม่ถึงขั้นว่าเลวร้ายมาก แต่ปัญหาว่าผู้ถือหุ้นเกิดทะเลาะกันด้วยผลประโยชน์ไม่ลงตัว มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 คน ผู้ถือหุ้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ก็คือ เฮียนิรุจกับเพื่อน ถือหุ้นร่วมกันในบริษัทเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกฟากหนึ่ง คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นถึงร้อยละ 90 แต่มีผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว กรรมการบริษัทมีอยู่ 1 คน คือเพื่อนคนที่ถือหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์นั้น เพื่อนคนที่ถือหุ้นเยอะที่สุดก็เข้าใจว่าตนเองมีอำนาจมาก จะครอบงำกิจการของบริษัทอย่างไรก็ได้ จึงเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อมีมติเพิ่มทุน และเพื่อจะมีมติ อนุมัติเงินเดือนกรรมการ ให้ตนเองเพิ่มขึ้น…”

         เฮียนิรุจนำเรื่องมาปรึกษาผมในฐานะทนายประจำตัวของเฮียแกว่าจะทำอย่างไรกันดีถึงจะคานอำนาจในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ แล้วทุกท่านล่ะครับคิดว่างานนี้จะช่วยคุณอ่อนได้อย่างไรกัน ?

         งานนี้ผู้เขียนในฐานะทนายความประจำตัวของเฮียนิรุจ จึงให้เฮียนิรุจไปคัดข้อบังคับของบริษัทมาดู จึงพบว่ามีข้อบังคับอยู่ข้อหนึ่งเขียนว่า การจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้นต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น” แค่ข้อบังคับข้อเดียวนี้ ทำให้เจอทางแก้ไขได้แล้ว บางท่านอาจจะตามไม่ทัน เรามาดูไปพร้อมๆกันทีละขั้นตอน ดังนี้

         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1190 กำหนดว่า การประชุมใหญ่ใดๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนนั้นให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้นจะได้มีผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ นั่นก็หมายความว่า ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเฮียนิรุจ จะต้องลงมติใดๆก็ด้วยวิธีชูมือเท่านั้น จะลงคะแนนลับไม่ได้ นอกจากผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยเสนอให้ลงคะแนนลับ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ในอัตราร้อยละ 90 นั้น ไม่มีทางที่จะเสนอให้ลงคะแนนลับได้เลยเพราะมีอยู่เพียงคนเดียว

         คราวนี้เรามาดูผลของการลงมติด้วยวิธีชูมือบ้างว่าเป็นอย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1182 กำหนดว่า ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทน มีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน ข้อนี้หมายความว่า การลงมติด้วยวิธีชูมือนั้นเขาให้นับจำนวนผู้ถือหุ้นไม่ได้นับจำนวนหุ้นไม่ว่าจะถือหุ้นอยู่กี่หุ้นก็ตาม ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ผู้ถือหุ้น ฝ่ายเฮียนิรุจมีทั้งหมด 2 คน ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นถึงร้อยละ 90 มีจำนวนผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว หากลงมติด้วยวิธีโชว์มือแล้ว ผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นอยู่ร้อยละ 90 ก็ต้องแพ้มติอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นการลงคะแนนลับ กฎหมายให้นับจำนวนหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้น 90% ก็จะชนะมติที่ประชุม แต่ก็ปรากฏว่า กรณีของเฮียนิรุจไม่มีทางที่จะลงคะแนนลับได้เลย เพราะไม่มีผู้ถือหุ้น 2 คนเสนอให้ลงคะแนนลับ

         คำถามต่อมาว่า ผู้ถือหุ้นที่ถืออยู่ 90% นั้น จะกระจายหุ้นโดยการโอนให้คนอื่นเพื่อให้มีจำนวนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ได้อีก เพราะข้อบังคับกำหนดว่า ถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นให้กับบุคคลภายนอกต้องได้รับ อนุมัติจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และหากมีการประชุมเพื่ออนุมัติให้จำหน่ายจ่ายโอนหุ้น ผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 90 ก็แพ้มติที่ประชุมอีกเพราะมีผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวและลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้นเอง

         เห็นหรือยังครับว่า ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 90 แต่ทำอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น ท่านผู้อ่านเห็นแล้วหรือยังว่าข้อบังคับของบริษัทนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด

โดยทนายสถิตย์ อินตา

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!