นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างในทำนองว่า ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชย

Published by law_admin on

นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างในทำนองว่า ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ได้หรือไม่ ?

นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างในทำนองว่า ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ได้หรือไม่ ?

นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างในทำนองว่า ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ได้หรือไม่ ?

       คำถามนี้น่าสนใจมากครับ และในบรรดานักกฎหมายแรงงาน ถ้าจะให้ตอบคำถามนี้คงจะต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง จ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เคร่งครัดและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงที่ให้ลูกจ้างสละสิทธิในเงินค่าชดเชยก็ดี ค่าจ้างก็ดี หรือ สิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ดี ข้อตกลงนั้นเมื่อขัดต่อกฎหมายก็บังคับไม่ได้สถานเดียว

       แต่มีเรื่องแปลกแต่จริงครับ ลูกจ้างและนายจ้างสามารถทำสัญญากันในลักษณะที่ว่า ลูกจ้าง ยินยอมที่จะไม่เรียกร้องค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และ ตกลงว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆจากนายจ้างอีกต่อไปก็ได้ นักกฎหมายแรงงานคงจะสงสัยว่าทำได้จริงหรือ แล้วมันทำยังไงกัน วันนี้ท่านหมาแก่จะนำเรื่องนี้มา เล่าให้ ผู้บริหารบริษัททั้งหลายฟังเป็นอุทาหรณ์

       มีคดีเรื่องหนึ่งนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว ต่อมานายจ้างไปตกลงกับลูกจ้างว่าจะจ่ายเงินให้กับลูกจ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เต็มตามจำนวนค่าชดเชยตามกฎหมาย เมื่อนายจ้างได้จ่ายเงินให้กับลูกจ้างไปตามที่ได้ตกลงกันแล้ว ลูกจ้างยังนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยในส่วนที่เหลือ โดยเข้าใจว่าข้อตกลงเรื่องการสละสิทธิในค่าชดเชยนั้น ไม่มีผลผูกพันเพราะขัดต่อกฎหมาย

       พูดมาถึงตรงนี้ นักกฎหมายแรงงานทั้งหลายก็คงจะร้องอ๋อไปตามๆกัน ว่าข้อตกลงในลักษณะนี้บังคับได้หรือไม่?

       คำตอบ ก็คือข้อตกลงลักษณะนี้ ใช้บังคับได้ เพราะถือว่าทำในขณะที่ทำข้อตกลงนั้น ไม่มีสถานะเป็นนายจ้างลูกจ้างกันต่อไป (เพราะสัญญาจ้างสิ้นสดลงไปแล้ว) ลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะตัดสินใจได้เองเด็ดขาด 100% จะตกลงไม่รับค่าชดเชยสักบาทเลยก็ได้ แต่ต้องขอย้ำกับนายจ้างว่า ต้องเป็นการทำความตกลงกันเมื่อ มีการสิ้นสภาพการจ้างแล้วเท่านั้น

       ทั้งนี้เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2543 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทราบการเลิกจ้างและไม่ไปทำงานตั้งแต่วันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ไปทำหนังสือยินยอมรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยการสละสิทธิไม่เรียกร้องค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ จากโจทก์อีก หลังจากโจทก์ไม่ไปทำงานถึง 2 เดือนเศษ โจทก์จึงมีอิสระแก่ตน พ้นพันธะกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ

       เอกสารฉบับพิพาทระบุว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ 169,600 บาท โจทก์ทราบแล้วตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวโดยจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีก ซึ่งเงินใด ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกดังกล่าวนั้น ย่อมหมายถึงเงินทุกประเภท รวมทั้งค่าล่วงเวลาที่โจทก์อาจจะมีสิทธิได้รับจากจำเลยด้วย เมื่อการสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลย

       เห็นหรือยังครับว่า การตกลงที่จะไม่รับค่าชดเชย ก็บังคับได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย รู้กฎหมายแรงงานสามารถลดต้นทุนกิจการได้แบบนี้เห็นๆ เลยครับ

โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!