ท่อช่วยหายใจหลุดทำให้สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองพิการถาวร แพทย์ประมาทซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลต้องรับผิดหรือไม่…?

Published by lawyer_admin on

ท่อช่วยหายใจหลุดทำให้สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองพิการถาวร แพทย์ประมาทซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลต้องรับผิดหรือไม่...?

#ท่อช่วยหายใจหลุดทำให้สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองพิการถาวร  แพทย์ประมาทซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลต้องรับผิดหรือไม่…?

#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564

สาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเกิดจากสาเหตุใด เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าสาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเสียหายถาวรอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะสาเหตุใดแน่ ตรงกันข้ามกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง ที่มีโจทก์ที่ 2 และ ส. บิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตามบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังการผ่าตัด เมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ทำการตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาก็ล้วนเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และ ส. ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนรับฟังมา พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าวกรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

#หมายเหตุ :  คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าสาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด   ปัญหาว่าการกระทำของเเพทย์เป็นการประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้นต้องพิจารณาอย่างมาตรฐานของผู้มีวิชาชีพ   ซึ่งการที่จะวินิจฉัยได้ว่าประมาทหรือไม่จะต้องพิจารณาตามมาตรฐานการรักษาว่าในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปหากมีการผ่าตัดเเละใช้เครื่องช่วยหายใจเช่นเดียวกัน  โอกาสที่ท่อช่วยหายใจจะหลุดก่อน  ขณะ  หรือภายหลังการทำการรักษานั้นมีมากน้อยเพียงใด  หากโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากก็อาจจะต้องรับฟังว่าเเพทย์ผู้ทำการรักษากระทำประมาทซึ่งโรงพยาบาลจะต้องรับผิด  สำหรับคำพิพากษาฎีกาที่หมายเหตุนี้เมื่อข้อเท็จจริงยุติเเล้วว่าเครื่องช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ภายหลังจากการผ่าตัด  ย่อมเป็นการเเสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของแพทย์ผู้ทำการรักษา ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่อาจคาดหมายได้นั้น  ประเด็นนี้ศาลฎีกาก็มิได้เเสดงให้เห็นในคำวินิจฉัยว่าการที่เครื่องช่วยหายใจหลุดเป็นเหตุสุดวิสัยในเรื่องใด หรือเกิดจากการชักกระตุกของโจทก์ที่ เอง  หรือไม่สามารถป้องกันได้นั้นเป็นเพราะเหตุใด  ซึ่งยังทำให้เคลือบเเคลงในคำวินิจฉัยอยู่  โดยความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าแพทย์ผู้รักษาประมาทซึ่งโรงพยาบาลจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!