วิธีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูต้องทำอย่างไร?

Published by lawyer_admin on

วิธีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูต้องทำอย่างไร?

วิธีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูต้องทำอย่างไร?

ปัญหาเรื่องการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนับเป็นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและเห็นได้ไม่ยากนัก เพื่อให้ทุกท่านได้รู้เรื่องราวกระบวนการเกี่ยวกับการฟ้องคดีให้สามารถใช้สิทธิทางศาลได้  ผมจึงขอนำความรู้เกี่ยวเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ส่งต่อดังนี้

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นถือเป็นคดีครอบครัว ซึ่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการฟ้องและการพิจารณาคดีไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป  มีรายละเอียดดังนี้

☑️ การฟ้องคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียมศาล (มาตรา 155)

☑️ คำฟ้องจะทำเป็นหนังสือไปยื่นศาลก็ได้ หรือโจทก์คนที่จะฟ้องจะไปแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลก็ได้ และโจทก์คนที่จะฟ้องยังสามารถมอบอำนาจให้บุคคลหรือองค์การอื่นใดไปดำเนินคดีแทนได้ด้วย รวมถึงบุคคลหรือองค์การใดยังสามารถขออนุญาตศาลในการดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ได้ด้วย (มาตรา 157)

☑️ กรณีที่ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะฟ้องรวมไปในคดีที่ขอให้ฝ่ายชายศาลรับเด็กเป็นบุตรด้วยก็ได้ เพราะการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบัตรเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรและเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๖๘/๒๕๓๓)

☑️ เมื่อฟ้องคดีแล้ว ก่อนเริ่มพิจารณาคดี ศาลจะให้ไกล่เกลี่ยกันประนีประนอมกันก่อน โดยศาลจะตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวมาทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย ถ้าไกล่เกลี่ยกันได้สำเร็จ ต่างฝ่ายต่างพอใจในข้อตกลง  ผู้ประนีประนอมก็จะจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นมาแล้วรายงานศาล  จากนั้นหากศาลก็จะพิจารณาหากเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทุกฝ่ายตกลงกัน   แต่ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้  ศาลก็จะสั่งให้ยุติการไกล่เกลี่ยและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป (มาตรา 148 , มาตรา 146)

☑️ ระหว่างพิจารณาคดีคู่ความมีสิทธิร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคดีให้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ศาลยังมีอำนาจสั่งให้กองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก  จ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่บุตรเช่นว่านี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องชำระได้อีกด้วย (มาตรา 159)

☑️ เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ศาลมีอำนาจสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา(ฝ่ายที่ต้องจ่ายเงิน)นำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ (มาตรา 162)

☑️ หากศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมชำระโจทก์มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจากเงินได้ของจำเลยที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงานของหน่วยงานเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ เงินเดือน ค่าจ้างบำนาญ ค่าชดใช้ หรือเงินสงเคราะห์ สำหรับจำเลยที่เป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการนั้นเงินได้ของจำเลยที่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันก็บังคับมาชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เช่นกัน โดยศาลอาจตั้งเจ้าหนักงานบังคับคดี หรือบุคคลใดที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการก็ได้  และให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี  (มาตรา 154)

อนึ่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนำมาจากคำอธิบายกฎหมายครอบครัว พิมพ์ครั้งที่ 21
ของศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!