ลงโทษให้วิ่งรอบสนามนักเรียนเสียชีวิต ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?

Published by lawyer_admin on

ลงโทษให้วิ่งรอบสนามนักเรียนเสียชีวิต ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?

ลงโทษให้วิ่งรอบสนามนักเรียนเสียชีวิต ใครบ้างต้องรับผิดชอบ

ฎีกาที่ 5129/2546

             จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม      ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง      ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ.  จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ     ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลง

                การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2      การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย  เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง

                 แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้  ฉะนั้น  เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)  ประกอบมาตรา  246, 247

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!