ที่ดินมีโฉนดก็ถูกแย่งกรรมสิทธิ์ได้ จริงหรือไม่?

Published by lawyer_admin on

ที่ดินมีโฉนดก็ถูกแย่งกรรมสิทธิ์ได้ จริงหรือไม่?

#ที่ดินมีโฉนดก็ถูกแย่งกรรมสิทธิ์ได้

การแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอ้างครอบครองปรปักษ์สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

#การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครอง

เรื่องการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

#จากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ การครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นมีหลักเกณฑ์ 6 ประการ ดังนี้

  1. มีการครอบครอง คือ มีการเข้ายึดถือทรัพย์สิน เช่น เข้าทำประโยชน์ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในสวนไร่นา ถือว่าได้ครอบครองสวนไร่นานั้นแล้ว
  2. เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น คือ เป็นทรัพย์สินที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว ในกรณีที่ดินจะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดเท่านั้น
  3. โดยสงบ คือ เข้าไปครอบครองโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้กำลัง การหลอกลวง และไม่มีใครหวงห้าม กีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของหรือฟ้องร้องขับไล่
  4. โดยเปิดเผย คือ การครอบครองโดยไม่ได้หลบซ่อน ปิดบัง หรืออำพรางใด ๆ
  5. ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ การครอบครองโดยเจตนาตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่การครอบครองแทนผู้อื่น
  6. ครอบครองติดต่อกันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี

#หากครบหลักเกณฑ์ 6 ประการนี้ ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นก็จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

#ดังนั้น เจ้าของทรัพย์สินควรจะใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของตัวเองให้คุ้มค่า หากทรัพย์สินนั้นเป็นที่ดินก็ไม่ควรปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพราะหากมีคนอื่นมาครองครองที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลารวม 10 ปี แล้ว คนที่ครอบครองนั้นก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินไปทันทีตามกฎหมาย แม้ว่าชื่อในโฉนดจะยังเป็นของเจ้าของเดิมก็ตาม ผู้ครอบครองก็มีสิทธิจะไปร้องขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นต่อศาลได้

#จากตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 3565/2565 ##จะเห็นว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยทั้งสองเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเพราะเห็นว่าเป็นที่ดินว่างเปล่าและเข้าใจว่าเป็นที่ดินไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งการครอบครองที่ดินของจำเลยในคดีนี้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การครอบครองที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นดังที่ได้อธิบายไว้ในข้างต้น

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!