หากความชำรุดบกพร่องเกิดหลังจากการทำสัญญาซื้อขาย จะสามารถเรียกให้ผู้ขายรับผิดได้หรือไม่ ?

Published by lawyer_admin on

หากความชำรุดบกพร่องเกิดหลังจากการทำสัญญาซื้อขาย จะสามารถเรียกให้ผู้ขายรับผิดได้หรือไม่ ?

#กรณีความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 หากความชำรุดบกพร่องเกิดหลังจากการทำสัญญาซื้อขาย จะสามารถเรียกให้ผู้ขายรับผิดได้หรือไม่ ?

#เห็นว่าไม่สามารถเรียกให้ผู้ขายรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องได้

ป.พ.พ. มาตรา 472 บัญญัติว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

“#ความชำรุดบกพร่อง” หมายถึง ความเสื่อมเสียในเนื้อหาของวัตถุหรือทรัพย์ อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา

#ข้อสำคัญคือความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งซื้อขายอันผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อ จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย มิใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำสัญญาซื้อขาย เช่น กรณีมีการใช้ทรัพย์ไปแล้วประมาณ 6 เดือนตามปกติ ทรัพย์สามารถใช้การได้ แต่หลังจากนั้นใช้การไม่ได้ กรณีนี้ผู้ซื้อจะฟ้องให้ผู้ขายรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องมิได้

#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2545 ความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายอันผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ เมื่อปรากฏว่าก่อนที่จำเลยรับมอบเครื่องผลิตไอศกรีมพิพาทจากโจทก์ จำเลยได้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องแล้ว ซึ่งสามารถใช้การได้ดี แสดงว่าเครื่องผลิตไอศกรีมดังกล่าวมิได้มีความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบ การที่เครื่องผลิตไอศกรีมพิพาทเกิดชำรุดบกพร่องหลังจากใช้งานไปได้เกือบ 1 ปี จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังอันเกิดจากการใช้งาน ผู้ขายหาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนี้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระตามมาตรา 488

#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2514 ความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขายอันผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามมาตรา 472 นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ เครื่องปรับอากาศที่โจทก์ติดตั้งที่ภัตตาคารของจำเลยให้ความเย็นเรียบร้อยดีนับแต่เวลาติดตั้งตลอดมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวมิได้มีความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาซื้อขาย หรือในเวลาส่งมอบเลย ฉะนั้น ที่เครื่องปรับอากาศให้ความเย็นไม่พอในเวลาต่อมา จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้รับมอบและใช้ประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน โจทก์หาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนี้ไม่ และด้วยเหตุนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระตามมาตรา 488

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!