แม่สามีมีชื่อเป็นเจ้าบ้านเพราะยอมให้บุตรกับสะใภ้ปลูกบ้านบนที่ดิน ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงเป็นบุคคลสิทธิ์ เมื่อบุตรตายแม่เป็นทายาทให้ทนายบอกกล่าวลูกสะใภ้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านภายใน 15 วัน

Published by lawyer_admin on

แม่สามีมีชื่อเป็นเจ้าบ้านเพราะยอมให้บุตรกับสะใภ้ปลูกบ้านบนที่ดิน ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงเป็นบุคคลสิทธิ์ เมื่อบุตรตายแม่เป็นทายาทให้ทนายบอกกล่าวลูกสะใภ้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านภายใน 15 วัน

แม่สามีมีชื่อเป็นเจ้าบ้านเพราะยอมให้บุตรกับสะใภ้ปลูกบ้านบนที่ดิน ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงเป็นบุคคลสิทธิ์ เมื่อบุตรตายแม่เป็นทายาทให้ทนายบอกกล่าวลูกสะใภ้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านภายใน 15 วันนับแต่วันรับหนังสือและมิได้บอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดิน ฟ้องขับไล่ไม่ได้ แม่สามีขอให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินได้ หาใช่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง⚖️

🔹พินัยกรรมระบุให้มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินที่ได้ปลูกบ้านอาศัยอยู่แล้วได้ชั่วชีวิต เป็นสิทธิเหนือพื้นดิน มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินได้ แม้จะล่วงเลยอายุความ 1 ปี ⚖️

📣 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ :

4471/2565 แม้โจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างต่อทางราชการและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน แต่เอกสารทางทะเบียนมิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท โจทก์เป็นมารดาของ ส. และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างต่อทางราชการและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านก็เพื่อให้ ส. กับจำเลยได้รับอนุญาตปลูกสร้างบ้านได้ตามกฎหมาย

ส. บุตรโจทก์และจำเลยภริยา ส. ปลูกสร้างบ้านพิพาทบนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านพิพาทย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 144 บ้านพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. และจำเลย โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท แม้ภายหลัง ส. ถึงแก่ความตายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิในบ้านส่วนที่เป็นมรดกของ ส. ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านพิพาทบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์โดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ สิทธิเหนือพื้นดินนั้นจึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิ์ระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินกับจำเลย โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียในเวลาใดก็ได้ เพียงแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายตามสมควร ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1413

โจทก์มอบหมายให้ทนายมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ เนื้อความระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัย ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่มีข้อความยกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ การบอกเลิกโดยกำหนดระยะเวลาขนย้ายเพียง 15 วัน นับว่าโจทก์ได้ให้เวลาแก่จำเลยน้อยเกินสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1413 การบอกเลิกของโจทก์ไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ให้จำเลยขนย้ายบริวารออกไปจากบ้านพิพาทและส่งมอบบ้านคืนให้แก่โจทก์

โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยกับ ส. ปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ และโจทก์ในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 1335 และมาตรา 1336 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียในเวลาใดก็ได้ เพียงแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1413 โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตไม่

(หนังสือ) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :

🔹ป.พ.พ.มาตรา 5,1299,1336,1413

📣 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ :

667/2542 ตามข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินได้ชั่วชีวิตของโจทก์ สิทธิอยู่อาศัยดังกล่าวเป็นสิทธิเหนือพื้นดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1410และเป็นทรัพยสิทธิ์ซึ่งโจทก์ได้รับมาตามพินัยกรรมโดยชอบ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์มีสิทธิบริบูรณ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกโดยการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้แม้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิได้ระบุให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินต่อเจ้าพนักงานก็ตาม

โจทก์ได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิอาศัยได้ชั่วชีวิตโจทก์ตามข้อกำหนดพินัยกรรมอยู่ก่อนที่ ท.เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมและก่อนที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แม้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน กรณีเช่นนี้จึงเปรียบได้เสมือนหนึ่งว่า โจทก์ในฐานะทายาทตามพินัยกรรมได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นโดยฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์ได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ1 ปีแล้ว โดยปรับเข้ากับ ป.พ.พ.มาตรา 1748 ซึ่งเป็นบทมาตราข้อยกเว้นที่จะใช้บังคับตามมาตรา 1754 ดังนี้แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

เมื่อตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยไว้ด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องตามที่โจทก์ขอได้

(หนังสือ) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :

🔹ป.พ.พ.มาตรา 850,1299,1410,1612,1748,1754

🔹ป.วิ.พ.มาตรา 142

🖌🖍 ตามฎีกา 4471/2565 เป็นฎีกาที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะท่านที่จะสอบ เนติบัณฑิต,อัยการผู้ช่วยและผู้ช่วยผู้พิพากษา เพราะได้วินิจฉัยข้อกฎหมายหลายมาตราที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่เริ่มสร้างครอบครัว จนกระทั่งตายเป็นทรัพย์มรดก⤵️

🔹แม่สามีต้องการให้บุตรชายกับลูกสะใภ้มาปลูกสร้างบ้านในที่ดินตน ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงเป็นบุคคลสิทธิ์ เมื่อลูกชายเสียชีวิต แม่สามีให้ทนายมีหนังสือขับไล่ลูกสะใภ้ออกไปจากที่ดินและบ้านภายใน 15 วันนับแต่วันรับหนังสือ ศาลฎีกายกฟ้อง เพราะหนังสือบอกกล่าวไม่ชอบเรื่องเวลา และมิได้บอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินให้ลูกสะใภ้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ ศาลฎีกากล่าวถึงการใช้สิทธิของแม่สามีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตนจากบุคคลอื่นที่เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินตนได้ถือเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องที่แม่สามีฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

🔹โจทก์ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินจำเลยโดยจำเลยยังคงให้สิทธิโจทก์เป็นเจ้าของบ้านโดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่มีกำหนดระยะเวลา ย่อมก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่โจทก์ที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งย่อมจะใช้สิทธิบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินแก่โจทก์แล้ว สิทธิเหนือพื้นดินย่อมสิ้นไปโจทก์ต้องรื้อถอนบ้านออกไป และไม่มีความเสียหายอื่นใดอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จะพึงเรียกร้องจากจำเลยได้อีก ฎีกาที่ 2203/2560

🔹สิทธิเหนือพื้นดินเมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจะอ้างว่ามีข้อตกลง จะฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนสิทธิเหนือที่ดินหาได้ไม่ ฎีกาที่ 749/2536

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!