หนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะเป็นลักษณะแห่งตราสาร ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย

Published by lawyer_admin on

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง, 249 วรรคสอง

ประมวลรัษฎากร ม. 118

ฎีกาของจำเลยที่ยกเหตุผลต่าง ๆ โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์มานั้น ถึงแม้เป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดี แต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมายมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ไม่รับวินิจฉัยได้จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า เอกสารบันทึกข้อตกลงตามคำฟ้องมีข้อความว่าเป็นการกู้ยืมเงินและอยู่ในรูปสัญญา เมื่อมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรฯ นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองข้อความในบันทึกข้อตกลงที่ว่าผู้ให้สัญญายอมรับว่าได้เป็นหนี้ต่อผู้รับสัญญาจริงโดยระบุเท้าความให้เห็นว่าหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะเป็นลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ

****************

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 448,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 345,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้มีมูลหนี้เดิมมาจากโจทก์มอบเงินให้จำเลยไปซื้อดินลูกรัง และจำเลยส่งมอบดินลูกรังแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 448,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงิน 345,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า หนี้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 มีมูลหนี้มาจากโจทก์มอบเงินให้จำเลยไปซื้อดินลูกรัง และโจทก์ได้นำรถยนต์ไปบรรทุกมาแล้วหลายครั้ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 บาท เมื่อหักกันแล้ว ยังเหลือที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อีกประมาณ 150,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้กล่าวไว้ซึ่งดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโดยละเอียดชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะในข้อวินิจฉัยที่ว่า โจทก์มีเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 ล่วงหน้า ซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้มานำสืบประกอบคำเบิกความของโจทก์ให้มีเหตุผลรับสมกับเรื่องราว ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์รับดินลูกรังที่ซื้อจากจำเลยไปแล้วบางส่วน จำเลยไม่มีหลักฐานการรับดินลูกรังใด ๆ มาแสดง ทั้งจำเลยเบิกความแตกต่างกันในเรื่องเกี่ยวกับเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์ จึงรับฟังเอาแน่นอนไม่ได้ สำหรับคำของ พยานจำเลย ที่อ้างว่ารู้เห็นเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 ว่า จำเลยได้รับเงินจากโจทก์เพียง 300,000 บาท ส่วนที่เหลือ 45,000 บาท เป็นดอกเบี้ยล่วงหน้า ก็แตกต่างขัดแย้งกับจำเลยที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยได้รับเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจากโจทก์สองครั้งรวม 345,000 บาท ครบถ้วน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยยืมเงินจากโจทก์และทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 อันเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ และยังมิได้ชำระตามข้อตกลงนั้น ฎีกาของจำเลยที่ยกเหตุผลต่าง ๆ โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์มาอีกนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีแต่ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาข้อหลังของจำเลยที่ว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่าเป็นการกู้เงินมิใช่หนังสือรับสภาพหนี้และอยู่ในรูปสัญญา เมื่อมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรนั้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นฎีกาในชั้นนี้ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 ที่ว่า ตามที่ผู้ให้สัญญาได้กู้ยืมเงินไปจากผู้รับสัญญาเป็นจำนวนเงิน 345,000บาท โดยได้รับเงินที่กู้ไปครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 ผู้ให้สัญญายอมรับว่าได้เป็นหนี้ต่อผู้รับสัญญาอยู่เป็นเงิน 345,000 บาทจริง ข้อความที่ระบุถึงการกู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นเพียงการเท้าความให้เห็นว่า หนี้ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นนั้นมีมูลหนี้มาจากจำเลยได้กู้ยืมเงินและรับเงินตามจำนวนที่กู้ไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ว่ามีหนี้เดิมกันอยู่จริง บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะเป็นลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

Contact Us

ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759

ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083 568 1148

 

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง

Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

Youtube : https://www.youtube.com/@numchailawyer_channel

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com

#สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา,  #กฎหมาย, #นำชัยพรมทา, #บทความกฎหมาย, #คลังความรู้กฎหมาย, #ปรึกษากฎหมายฟรี,  #ปรึกษาด้านกฎหมาย, #จ้างทนายความ, #ทนายคดีอาญา, #ทนายคดีแพ่ง, #จ้างทนายความ, #ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู, #ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัท,

แชร์หน้านี้ !!