จดทะเบียนบริษัทไม่มีการชำระค่าหุ้นจริง กรรมการติดคุก 

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

จดทะเบียนบริษัทไม่มีการชำระค่าหุ้นจริง กรรมการติดคุก 

 

ทำไมสำนักงานฯ ถึงบอกว่าจดทะเบียนบริษัทที่ไม่ได้รับชำระค่าหุ้นกันจริงๆ จากผู้ถือหุ้น กรรมการอาจติดคุกได้ ก็เพราะว่าร้อยทั้งร้อยของบริษัท SME มักจดทะเบียนบริษัทที่ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท หรือ อย่างมากก็ไม่เกิน 5,000,000 บาทบ้าง ซึ่งถ้าทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 ล้านบาท ไม่ต้องมีหนังสือรับรองการรับชำระค่าหุ้นจากธนาคารไปแสดงต่อนายทะเบียน ทำให้จดทะเบียนบริษัทง่ายขึ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนไม่ได้ชำระค่าหุ้นกันจริงๆ

แต่วันที่ไปจดทะเบียนตั้งบริษัท นายทะเบียนจะให้ส่งเอกสารประกอบการจดทะเบียน ซึ่งก็จะมีใบสำคัญการรับชำระค่าหุ้น และก็จะมีลายมือชื่อของกรรมการบริษัท เซ็นว่า “ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น”  นาย ก. นาย ข. นาย ง. ไปครบถ้วนแล้ว แต่ตัวเงินค่าหุ้นไม่ได้รับมาจริงๆ   ครั้นพอถึงตอนสิ้นปีจะต้องทำงบการเงิน ก็ไม่รู้จะอธิบายให้บัญชีฟังว่าเงินตามเอกสารที่บอกว่ารับมาจากผู้ถือหุ้นนั้นมันหายไปไหน  ก็ทำเอกสารทางบัญชี และ ลงในงบการเงินเป็นว่า กรรมการยืมเงินของบริษัทไป (ภาษาบัญชีมักจะเรียกว่าเงินสดในมือกรรมการ) เรื่องนี้ก็ทำกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองใครๆเขาก็ทำกันก็ไม่มีปัญหาอะไร   

แต่ถ้าวันดีคืนดีกรรมการกับผู้ถือหุ้นเกิดทะเลาะกันขึ้นมา งานนี้มีบรรลัยแน่ๆ เพราะกรรมการดันไปลงชื่อในเอกสารว่ารับเงินจากผู้ถือหุ้นไปแล้ว และเมื่อผู้ถือหุ้นถามถึงเงินลงทุนที่บริษัทรับชำระค่าหุ้นไปจากผู้ถือหุ้นกรรมการก็บอกไม่มีเพราะไม่ได้รับมา แต่เอกสารบอกว่ารับมาแล้วแต่นำไปให้ตนเองหรือบุคคลอื่นยืมโดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นบางคนอาจถือว่ากรรมการยักยอกเงินของบริษัทเพราะไม่ได้นำเงินไปใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ของกิจการ กรรมการก็จะอ้างว่าความจริงแล้วยังไม่รับเงินค่าหุ้นก็ไม่ได้ เพราะเอกสารที่นำไปจดทะเบียนมันปรากฏชัดว่ากรรมการได้รับเงินค่าหุ้นไปแล้ว งานนี้กรรมการก็มีแต่ตายลูกเดียว หนักหน่อยก็ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ หรือ ทำเอกสารเป็นเท็จตาม พรบ.กำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนฯ พ.ศ.2499 มาตรา 42 หรือ ถ้าเบาลงมาหน่อยก็ถูกฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้เอาเงินมาคืนบริษัท ทั้งๆที่ตนเองไม่ได้รับเงินไปจริงเลยแม้แต่บาทเดียว  

เรื่องนี้สำนักงานฯ จึงนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังกันจะได้ระมัดระวังหากจะมีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในลักษณะนี้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะกรรมการหรือผู้ถือหุ้น หากจะทำธุรกิจก็จะมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงตามสภาพของเศรษฐกิจ หรือ ความเสี่ยงทางกฎหมาย เมื่อเกิดขึ้นกับกิจการไหนก็มีโอกาสเจ๊งได้เหมือนกัน คดีประเภทนี้มีการฟ้องคดีกัน และมีกรรมการต้องติดคุกมาเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้มานักต่อนักแล้วครับ 

 

โดยทนายนำชัย  พรมทา 

โทร. 086-331-4759 

 

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com

อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา : 086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148

E-mail : numchailaw.office@gmail.com

Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทากฎหมายนำชัยพรมทาบทความกฎหมายคลังความรู้กฎหมายปรึกษากฎหมายฟรีปรึกษาด้านกฎหมายจ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!